back to top

คนวัยทำงานรับภาระหนัก เป็นเดอะแบกดูแลทั้งลูกและพ่อแม่สูงอายุ

ประชากรลด เกิดน้อย  แก่เยอะ กระทบเศรษฐกิจ สังคม ภาระหนักตกที่ “เดอะแบก” (Sandwich Generation) ดูแลทั้งพ่อแม่และลูก แนะ ภาครัฐ ทำสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเลี้ยงเด็ก สร้างความเท่าเทียมคุณภาพการศึกษา พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก เพิ่มแรงจูงใจให้คนอยากมีลูก 

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์ประชากรที่ลดลงซึ่งจะส่งผลกระทบในหลายมิติ เนื่องในวันประชากรโลกวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า แนวโน้มประชากรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยลดลง เนื่องจากมีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถแบกรับต้นทุนในการเลี้ยงดูเด็กได้ เพราะการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ต้องใช้เงินจำนวนมากเป็นหลักล้าน โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางที่รู้สึกว่าหากไม่สามารถส่งลูกเข้าโรงเรียนที่ดี หรือโรงเรียนนานาชาติได้ ในอนาคตลูกของตนเองก็อาจจะสู้คนอื่นไม่ได้ จึงตัดสินใจไม่มีลูก 

นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่บางส่วนยังต้องการใช้ชีวิตอิสระ อยากสัมผัสโลกกว้าง ไม่อยากมีภาระ เปลี่ยนงานได้ตามความพึงพอใจ ขณะเดียวกันบางส่วนรู้สึกกังวลกับสภาพสังคมไทยที่เต็มไปด้วยปัญหา ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพ และคุณภาพของการเมือง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่อยากให้ลูกเติบโตมาในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ 

ทั้งนี้การที่ประชากรลดน้อยลงส่งผลกระทบในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การที่มีจำนวนคนทำงานลดลง ย่อมทำให้ผลิตผลทางเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวลดลงเช่นกัน ขณะที่ในด้านสังคม อัตราการเกิดในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้คนในวัยทำงานทยอยลดลงเรื่อยๆ แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ ภาพรวมของสถานการณ์เช่นนี้สะท้อนว่าคนวัยทำงานต้องรับภาระหนัก ทั้งการดูแลผู้สูงอายุและเลี้ยงดูลูกของตนเอง หรือที่เรียกกันว่า “เดอะแบก” (Sandwich Generation) จนนำไปสู่คำถามสำคัญว่า คนวัยทำงานจะสามารถรับมือกับภาระที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ และคุณภาพชีวิตของเด็กและผู้สูงอายุจะได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งถือเป็นโจทย์ทางนโยบาย 

“สถานการณ์ประชากรที่ลดน้อยลงจะส่งผลกระทบมากขึ้นหากประเทศมีความเหลื่อมล้ำสูง รวยกระจุกจนกระจาย อย่างประเทศไทยเป็นต้น เพราะเด็กเกิดใหม่ส่วนใหญ่จะเกิดในครอบครัวที่มีรายได้ไม่สูง เช่น ในกลุ่มครอบครัวที่มีรายได้ต่ำที่สุด 40% ของประเทศ (bottom 40) ซึ่งเป็นครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมาอย่างเต็มศักยภาพได้ ส่งผลต่อความสามารถและทักษะการทำงานในอนาคตของเด็กกลุ่มนี้ ทำให้มีรายได้ไม่สูง แต่ต้องรับภาระเลี้ยงดูทั้งผู้สูงอายุ และเด็ก ” 

สำหรับข้อแนะนำสำหรับกลุ่มเดอะแบกที่จะต้องรับภาระดูแลทั้งพ่อแม่และลูก ดร.สมชัย บอกว่า ต้องพัฒนาทักษะตัวเองเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้พ่อแม่ ที่แม้จะเป็นผู้สูงอายุแล้วแต่ยังมีศักยภาพในการทำงานสามารถทำงานต่อไป เพราะในปัจจุบันมีทั้งเทคโนโลยี และ AI ที่สามารถเข้ามาช่วยสร้างงานให้กับผู้สูงอายุได้มากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องพยายามลดค่าใช้จ่าย เช่นในส่วนการเลี้ยงดูลูกนั้น สามารถวางแผนการศึกษาให้ลูกเพื่อให้มีคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนโรงเรียนดัง หรือโรงเรียนนานาชาติ เช่น ผสมผสานการเรียนในโรงเรียนกับการเรียนแบบโฮมสคูลที่พ่อแม่ช่วยสอน ในช่วงเย็นหรือวันหยุด โดยใช้แพลตฟอร์มและคลิปการเรียนการสอนที่มีอยู่มากมาเป็นแนวทางและตัวช่วย จะช่วยลดต้นทุนการศึกษา แต่ยังสามารถพัฒนาศักยภาพลูกได้ เรื่องนี้ถ้ามองในระดับนโยบาย ภาครัฐก็สามารถช่วยลดภาระได้ ผ่านปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพโรงเรียนทุกแห่งให้ใกล้เคียงกัน ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องขวนขวายส่งลูกไปเรียนโรงเรียนแพงๆ อันจะช่วยลดต้นทุนการศึกษาของครอบครัวได้มาก

ส่วนนโยบายเพิ่มอัตราเกิดนั้น ประสบการณ์ทั่วโลกที่ทำกันมาพบว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แม้ในบางประเทศมีการแจกเงินหลักหมื่นหลักแสนต่อเด็กที่เกิดใหม่หนึ่งคนก็ไม่สามารถจูงใจให้คนอยากมีลูกมากขึ้นได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยต้นทุนที่ไม่สูงนักที่กล่าวถึงแล้ว และปฏิรูปการศึกษาให้โรงเรียนมีคุณภาพเท่าเทียมกันมากขึ้น การมีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพกระจายทั่วประเทศก็จะช่วยได้ เพราะปัจจุบันยังมีหลายครอบครัวต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายายเพราะไม่สามารถเลี้ยงดูที่อายุน้อยด้วยตัวเองได้ ทำให้เกิด “ครอบครัวแหว่งกลาง” ซึ่งอาจกระทบต่อพัฒนาการในช่วง 6 ปีแรกที่สำคัญของเด็ก การมีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพและทั่วถึงจะทำให้พ่อแม่ตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยตัวเองในขณะที่ยังต้องทำงานได้

ในภาพรวม แนวนโยบายที่ควรเป็นคือการพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมที่เอื้อต่อการเลี้ยงดูลูก เช่นควรพิจารณานโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดให้แบบถ้วนหน้า อีกนโยบายที่ควรเริ่มพิจารณาอย่างจริงจัง คือการเพิ่มจำนวนประชากรไทยที่ไม่ต้องพึ่งการเพิ่มอัตราการเกิด ตัวอย่างคือการให้สัญชาติแก่เด็กที่เกิดในประเทศไทยซึ่งไม่ใช่คนไทย เช่น ลูกแรงงานต่างชาติ หรือเด็กไร้สัญชาติ พร้อมกับวางระบบดูแลเด็กเหล่านี้ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ หรือการพิจารณาการดึงแรงงานต่างชาติที่มีฝีมือ ในระดับผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในไทยอย่างถาวรมากขึ้น เพื่อเสริมศักยภาพแรงงานไทย และเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว