back to top

แก้ที่ต้นเหตุ ฟังเชิงรุก (ACTIVE LISTENING) 

“ทำร้ายกันในครอบครัว” เป็นปัญหาความรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว สาเหตุเริ่มต้นมาจากความเครียดสะสมในครอบครัวนั่นเองที่อาจเกิดจากใครคนใดคนหนึ่งหรือหลายคน ความเครียดส่งผลทั้งต่อร่างกายและจิตใจ ทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความผิดปกติของหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ อาการท้องผูกท้องเสียบ่อยๆ นอนไม่หลับ หอบหืด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น ส่วนผลกระทบต่อจิตใจ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล ซึมเศร้า กลัว อารมณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงง่าย หรือโรคประสาทบางอย่าง

ความเครียดส่งผลกระทบต่อสัมพันธภาพต่อครอบครัวและบุคคลรอบล้อม ทำให้เกิดปัญหาซับซ้อน ยิ่งทำให้ตึงเครียดมากขึ้น ต้นเหตุของความเครียดส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากรายได้น้อยกว่ารายจ่าย แรงกดดันทางสังคม เช่น จากหน้าที่การงาน การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง หรือการสอบแข่งขันเข้าเรียน

คนที่เครียดง่ายมาจากอุปนิสัย หรือวิธีการดำเนินชีวิตของคนบางคนที่มีลักษณะต่อไปนี้

1.คนที่ชอบแข่งขันสูง ชอบท้าทาย เอาชนะ

2.คนที่เข้มงวด เอาจริงเอาจังกับทุกอย่างไม่มีการผ่อนปรน

3.คนที่พยายามทำอะไรหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน

4.คนที่มีอารมณ์รุนแรงอัดแน่นในใจเป็นประจำ

5.คนที่ใจร้อน จะทำอะไรต้องให้ได้ผลทันทีไม่ชอบรอนาน

นอกจากนี้ยังมีนิสัยการกินดื่มที่ไปส่งเสริมความเครียด เช่น ผู้ที่ดื่มกาแฟบ่อยๆ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ตลอดจนกินอาหารที่มีน้ำตาลมากๆ และผู้ที่มีสัมพันธภาพกับคนอื่นๆ ที่ไม่ราบรื่น มักมีข้อขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นเป็นปกติวิสัย ความรู้สึกตนเองต่ำต้อยกว่าคนอื่น ต้องพยายามต่อสู้เอาชนะ ต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่น

การลดความเครียดต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ไปส่งเสริมให้เกิดความเครียด และปรับนิสัยและทัศนคติต่อการดำเนินชีวิต เช่น ผ่อนปรนมากขึ้น ลดอาหารเครื่องดื่มบางประเภท มองตัวเองในแง่ดี และผู้อื่นในแง่ดี ปรับปรุงสัมพันธภาพต่อคนในครอบครัวและสังคมภายนอก และฝึกผ่อนคลาย เช่น การฝึกหายใจให้ถูกวิธี การฝึกสมาธิ การออกกำลังกายแบบง่ายๆ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การนวด 

คนรอบข้างก็ต้องหมั่นสังเกตกันด้วย โดยเฉพาะคนในครอบครัว ดูทั้งกายภาพ และสังเกตด้วยการ “ฟัง” บทสนทนาที่เกิดขึ้น ซึ่งระดับการฟังที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันมี 5 ระดับ ได้แก่ 

1. ไม่สนใจ : ทำเหมือนผู้พูดกำลังพูดกับกำแพง

2. แกล้งฟัง พยักหน้า ไม่ได้ตั้งใจฟังจริง

3. เลือกฟังเฉพาะสิ่งที่อยากฟัง 

4. ตั้งใจฟังด้วยหูได้ข้อมูลครบถ้วนตามที่ได้ฟัง

5. ฟังด้วยใจ : ฟังด้วยหู ด้วยตา และด้วยใจ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกผู้พูด คิดตามอย่างมีสติ ไม่ตัดสิน อยู่กับปัจจุบัน

การตั้งใจฟังและการฟังด้วยใจ หรือ การฟังเชิงรุก (Active Listening) เป็นลักษณะการฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจ ทำความเข้าใจสารที่ส่งมา ให้เกิดการสื่อสารสองทางมีส่วนร่วมกับผู้พูด โดยใช้คำถามกระตุ้นสิ่งที่เป็นความคิดสาเหตุของความทุกข์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยการใช้คำถามปลายเปิด ช่วยให้ผู้เล่าได้ระบายในสิ่งที่ต้องการจะพูด ในขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณให้พวกเขาทราบว่าเราได้รับและเข้าใจสารที่พวกเขาส่งมาแล้ว

การฟังแบบ Active Listening ประกอบไปด้วยหลักการ 3A คือ Attitude (ทัศนคติ)เป็นการเปิดใจรับฟังโดยปราศจากอคติ เพื่อรับฟังเรื่องราวทั้งหมดจนจบได้อย่างเข้าใจจริงๆ Attention (ความสนใจ) โดยตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูด รอฟังเหตุผลและเรื่องราวเหตุการณ์ทั้งหมดของอีกฝ่ายให้จบ ก่อนนำมาคิดและวิเคราะห์ตามโดยไม่ยึดความคิดตัวเองเป็นใหญ่ Adjustment (การปรับตัว) หลังจากรับฟังเรื่องราวทุกอย่างแล้ว เลือกคำแนะนำวิธีการตอบกลับหรือแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมผ่านการไตร่ตรอง 

หรือหากใครเห็นว่าปัญหาหนักหน่วง ไม่มีคนรับฟังที่ดีพอ หรือคนฟังคิดว่า “เอาไม่อยู่” ให้ติดต่อปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกับโรงพยาบาลตามสิทธิ…ก่อนที่ความเครียดจะทำลายทุกสิ่ง

ข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลรามาธิบดี