ปลายๆ ฝนเข้าหน้าหนาวอย่างนี้ บางคนก็ชอบไปเที่ยวป่า แต่ใครเข้าป่าไปแล้วออกมามีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว และมีแผลคล้ายบุหรี่จี้ ต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเจอโรคเล่นงาน เรียกว่า โรคไข้ไรอ่อน หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ หรือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) ซึ่งโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ที่ชื่อโอเรียนเทีย ซูซูกามูชิ (Orientia tsutsugamush) โดยมีไรอ่อนเป็นพาหะ ซึ่งมักจะอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ ทุ่งหญ้าในป่าละเมาะ เมื่อมีสัตว์ผ่านเข้าไปในบริเวณนั้น จะถูกไรอ่อนเกาะและดูดเลือดหากสัตว์เหล่านั้นมีเชื้อโรคนี้อยู่ ไรอ่อนจะติดโรคนี้
และบังเอิญเราเดินทางหรือไปพักแรมในบริเวณที่มีไรอ่อนอยู่ ไรอ่อนจะไต่ตามเสื้อผ้า เช่น ขากางเกง และมักไปหยุดดูดเลือดแถวในที่อับ เช่น ใต้ร่มผ้า ทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านแผลบริเวณผิวหนังที่ถูกกัด และตรงบริเวณที่โดนไรอ่อนกัดจะแรกๆ จะเป็นตุ่มแดงๆ อยู่ 2-3 วัน แล้วแตก เป็นแผลพอแผลแห้งก็เป็นสะเก็ดดำๆ เหมือนรอยถูกบุหรี่จี้ ต่อมาต่อมน้ำเหลืองบริเวณที่ถูกกัดจะบวมเจ็บ
และจากนั้นก็จะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดตัว เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน แต่บางรายอาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น ไอที่เกิดจากหลอดลมอักเสบ ปอดบวม สมองอักเสบ ทำให้ชักหมดสติ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ทำให้เหนื่อยง่าย เป็นต้นอย่างไรก็ตามคนที่ไม่เข้าป่า ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ เช่น ชาวนา ชาวสวนที่อยู่ในภูมิประเทศที่เหมาะให้ไรอ่อนอาศัยอยู่ได้เช่นกัน
สำหรับวิธีการป้องกันเบื้องต้น ควรหลีกเลี่ยงแหล่งอาศัยของไรอ่อน เช่น พุ่มไม้ ป่าละเมาะ พยายามอยู่ในที่โล่ง ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่เสี่ยง สวมเสื้อผ้า หรือเครื่องป้องกันให้มิดชิด หากมีไข้สูง และมีอาการตามที่กล่าวมาหลังเข้าไปในป่า ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว
ข้อมูล : โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน