ใครๆ ก็อยากเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน “คงทำไม่ได้” หลายคนท้อ แต่ลองมาดูเคล็ดลับจากมาซาชิ โยชิอิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่ทำให้คนจำนวนมากกว่า 50,000 คนมีชีวิตที่ดีขึ้น เขาได้เขียนไว้ในหนังสือ “เทคนิคหลอกสมองให้เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่” แปลโดย อาคิรา รัตนาภิรัต
หลายคนคงสงสัย “หลอกสมองได้ด้วยหรอ!” มาซาชิซัง บอกว่า “ได้” แน่นอน เพราะเขาเปลี่ยนคนให้ดีขึ้นมาแล้วมากมาย เขาเขียนไว้ถึง 71 วิธีการ ไฮไลท์ก็คือคำว่า “กิจวัตร” หมายถึงให้ทำอะไรเป็นกิจวัตร เขาไม่เชื่อ 100% ว่าพรสวรรค์จะนำพาให้ชีวิตใครดีกว่าใครได้ แต่ “กิจวัตร” ต่างหากที่ทำได้ เขายกตัวอย่าง เด็กเกิดมาล้วนเป็นเด็กที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีเด็กที่เรียนเก่งหรือไม่เก่งมาแต่เกิด แต่จะมีแต่เด็กที่ตั้งใจเรียนเป็นกิจวัตร กับเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนเป็นกิจวัตรเท่านั้น ที่ทำให้มีเด็กเก่ง และเด็กไม่เก่ง
เรายกตัวอย่าง 6 วิธีการของเขามาแนะนำผู้อ่าน ประกอบด้วย
1. หลอกสมอง สมองจะเชื่อไปเองว่าข้อมูลทุกอย่างที่ได้ยินเป็นความจริง มันแยกไม่ออกว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนโกหก ดังนั้นข้อมูลที่เราได้รับซ้ำๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในช่วงเวลาหนึ่งจะส่งไปถึงจิตใต้สำนึกของเรา และฝังรากลึกอยู่ในสมอง และเราจะแสดงออกโดยอาศัยข้อมูลที่อยู่ในจิตใต้สำนึกนี้โดยไม่รู้ตัว เช่น เด็กที่ได้ยินว่า “เธอเป็นเด็กดีนะ” “อย่างเธอต้องทำได้แน่” เป็นประจำ เจ้าตัวก็จะคิดว่า “ฉันเป็นเด็กดี” “ฉันต้องทำได้”
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือเล่นกีฬา เขาจะไม่ย่อท้อ เขาจะสร้างกิจวัตรในการทำการบ้าน หรือฝึกฝนกีฬาด้วยตัวเอง เมื่อทำเช่นนี้ซ้ำๆ เขาย่อมเป็น “เด็กเรียนเก่ง” หรือ “เด็กที่เล่นกีฬาเก่ง” เช่นกันพนักงานขายที่ยิ้มออกมาจากใจ เพราะเขาฝังความคิดลงไปในตัวเองว่า “ฉันดีใจถ้าลูกค้าซื้อสินค้านี้ไปใช้ เพราะมันเป็นประโยชน์ต่อตัวลูกค้าเอง” เขาจึงสร้างกิจวัตรในการยิ้มออกมาโดยไม่รู้ตัว เมื่อลูกค้าเห็นก็จะรู้สึกว่า “คนนี้ดูเป็นคนดีจัง” หรือ “คนนี้คุยด้วยแล้วสบายใจจัง” พนักงานคนนี้ย่อมประสบผลสำเร็จได้แน่นอน
2. เปลี่ยนกิจวัตร เมื่อพนักงานขายคนหนึ่งต้องการเพิ่มยอดขายหลังจากทำยอดขายไม่ได้เลย ทำให้เขาไม่มีรายได้มานานหลายเดือนจนคิดว่า หากเป็นอย่างนี้ต่อไป ครอบครัวต้องอดตายแน่ เขาจึงตัดสินใจว่าจะสร้างกิจวัตรในการโทรศัพท์ขอนัดพบลูกค้าวันละ 10 สายทุกวัน หลังจากตัดสินใจและเริ่มโทรศัพท์หาลูกค้าทุกวันเป็นเวลา 1 ปี ในที่สุดเขาก็กลายเป็น พนักงานขายที่มียอดขายอันดับต้นๆ ได้สำเร็จ พนักงานขายอีกคนตัดสินใจว่าจะเขียนอีเมลหาลูกค้าด้วยความใส่ใจ หลังจากนั้นเขาก็เขียนอีเมลตามที่ตั้งใจไว้มาตลอด ในที่สุดเขาก็ได้เป็นพนักงานที่มีลูกค้าประจำหรือได้ลูกค้าใหม่จากการแนะนำของลูกค้าเก่ามากเป็นอันดับ 1 ทั้งสองคนมาจากคนที่ไม่มีผลงาน แต่เพียงได้ทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นกิจวัตร ก็สามารถกลายเป็นพนักงานขายอันดับต้นๆ ได้
3. ต้องทำให้สนุก จึงจะทำให้เราทำอะไรได้อย่างต่อเนื่องเป็นกิจวัตร เพราะสมองจะสั่งให้เราเข้าหาสิ่งที่ทำให้ รู้สึกดี อาทิ ชอบ สนุก ดีใจ ตื่นเต้น ที่เรียกว่า Approach response ในทางกลับกันสมองจะบอกให้เราถอยห่างจากสิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่ ไม่ว่าจะเป็น เกลียด น่าเบื่อ เศร้า โมโห เป็นต้น เรียกว่า Avoidance response จึงทำให้เราทำสิ่งที่ชอบได้อย่างต่อเนื่อง และทำสิ่งที่เกลียดได้ไม่ต่อเนื่อง ต่อให้เป็นเรื่องถูกต้องแค่ไหน แต่หากไม่สนุก สมองก็จะพยายามถอยห่างโดยที่เราไม่รู้ตัว เป็นสาเหตุให้เราทำอะไรไม่ตลอดรอดฝั่ง
ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้สมองอยากทำกิจวัตรอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่การฝืนทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่เป็นการพยายามสนุกกับสิ่งที่ถูกที่ควรต่างหาก ยกตัวอย่าง อยากเก่งภาษาอังกฤษ แต่เท่าไหร่ๆ ก็เรียนๆ เลิกๆ มาหลายครั้ง แต่ลองว่าหากครูสอนภาษาอังกฤษหน้าตาเหมือนศิลปินที่ชอบ เราย่อมสนุกที่จะได้เจอครูคนนั้น และตั้งใจไปเรียนทุกครั้งไม่เคยขาด เป็นต้น
4. เข้าใกล้สิ่งจำเป็น และถอยห่างจากสิ่งไม่จำเป็นอยู่เสมอ ยกตัวอย่าง อยากลดน้ำหนัก แต่เข้าห้างทีไรต้องไปเลียบๆ มองๆ ชั้นวางขนมหวานเสมอ แบบนี้เรียกว่า เข้าใกล้สิ่งไม่จำเป็น ดังนั้นหากอยากแข็งแรง ควรไปสนามกีฬา หรือสวนสาธารณะบ่อยๆ หรือหากอยากฝึกกล้ามเนื้อควรไปฟิตเนสบ่อยๆ ไม่ใช่เดินไปร้านกินดื่ม เป็นต้น ดังนั้นเราต้องเลือกสภาพแวดล้อมที่ทำให้เราทำเรื่องที่จำเป็นได้ทันที และอย่าเข้าใกล้สิ่งที่ไม่จำเป็น
5. กิจวัตร = ระดับความเชื่อมั่น x การทำซ้ำ ขอให้มองว่าใน 5 หรือ 10 ปีข้างหน้าเราอยากเป็นอย่างไร และเริ่มก้าวแรกตั้งแต่วันนี้ แต่สำคัญ คือ จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมั่นในภาพที่วาดไว้ เมื่อเราประสบผลสำเร็จ จะมีใครที่จะมาร่วมยินดีกับเราบ้าง เขาเหล่านั้นจะมีสีหน้าอย่างไรบ้างหนอ! ให้ใช้ภาพนั้นเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ
6. ให้เริ่มทำกิจวัตรเล็กๆ ก่อน เช่น ตื่นแต่เช้า เขียนบันทึกประจำวัน ถอดรองเท้าแล้ววางให้เป็นระเบียบ เป็นฝ่ายเอ่ยทักทายคนในที่ทำงานก่อน เก็บขยะบนพื้น เป็นต้น แน่นอนว่าความรู้สึกของมนุษย์ทุกคนจะถูกครอบงำโดยข้อมูลหรือความทรงจำจากอดีต ดังนั้นหากเราสร้างความทรงจำใหม่ ว่า “ฉันสามารถทำอะไรบางอย่างได้อย่างต่อเนื่อง” เวลาที่เราคิดจะทำสิ่งใหม่ คิดว่า “ฉันต้องทำได้” เวลาผ่านไปกิจวัตรเล็กๆ จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้
ยกตัวอย่าง หลังจากกลับถึงห้อง ด้วยความเหนื่อยล้าจากการทำงาน เขาจะเอาแต่นั่งๆ นอนๆ และเปิดโทรทัศน์ ปล่อยให้ห้องรกโดยไม่ทำความสะอาด เมื่อเขาต้องการเป็นคนใหม่และได้รับคำแนะนำ ว่าเมื่อถึงห้องก่อนถอดสูท ให้เก็บขยะ 3 ชิ้นออกไปทิ้ง เมื่อทำอย่างนั้นทุกวัน รู้ตัวอีกทีเขาก็เลิกเปิดโทรทัศน์ไปโดยปริยาย เมื่อเก็บขยะทิ้ง เขาก็ต่อด้วยการเก็บกวาดห้อง ข้าวของบนโต๊ะก็เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตรวจงานและเช็คตารางนัดหมายของวันพรุ่งนี้ดีกว่า ผลที่ตามมาคือเขาเลิกดูโทรทัศน์ดึกๆ แล้วก็ตื่นเช้าไปทำงานด้วยความกระปรี้กระเปร่า แล้วเขาก็ทำงานพลาดหรือเข้างานสายน้อยลง ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายของเขาเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
หรือตัดสินใจว่าจะเขียนบล็อกทุกวัน และทำมาตลอด 9 ปีครึ่ง เริ่มแรกเขาตัดสินใจจะเขียนบล็อกแทนบันทึกประจำวัน โดยไม่ได้กดดันอะไร ตอนแรกก็คิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไร แล้วเขาก็ตัดสินใจเขียนถึงตัวเอง และครอบครัวอย่างเปิดเผยโดยไม่สร้างภาพ ปรากฏว่าบล็อกของเขาได้รับเสียงตอบรับจากผู้อ่านจำนวนมาก เมื่อเปิดเผยตัวตนในแบบที่ตัวเองเป็น ลูกน้องคนที่ทำงานก็ยอมรับตัวตนของเขามากขึ้น ความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปด้วยดี ส่งผลต่อการทำงานตามมา และบล็อกของเขาก็เป็นที่นิยมจนสำนักพิมพ์ติดต่อให้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์และความคิดของเขา และวันนี้เขาก็เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศเพียงแค่เริ่มต้นเขียนบล็อกทุกวันเป็นกิจวัตร
นี่คือส่วนหนึ่งของพลังแห่งกิจวัตร…ลองใช้เทคนิคนี้กันดูนะ ตั้งเป้าว่าอยากเป็นคนแบบไหน วาดภาพในหัวให้ชัด และพูดกับตัวเองบ่อยๆ ทุกๆ วัน เช่น ฉันจะเป็นคนที่หุ่นดี สมาร์ท แล้วก็สร้างสภาพแวดล้อม ทำสิ่งที่ควรทำเป็นกิจวัตร เข้าใกล้สิ่งที่จำเป็น และถอยห่างสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่นานเกินรอ เผลอแป๊ปเดียว เราก็จะเป็นอย่างที่วาดฝันได้แน่นอน
Total Visit : 36121