เคยไหมตื่นขึ้นมาเห็นของเต็มบ้าน กองพะเนิน แล้วก็ไม่สามารถจัดการอะไรกับข้าวของพวกนั้นได้ เพราะแต่ละสิ่งล้วนมีที่มา เป็นความทรงจำที่อยากเก็บไว้ นึกไปนึกมาก็เลยทิ้งอะไรไม่ได้สักอย่าง ของใหม่ก็ทยอยเข้ามาอีก แต่เชื่อได้เลยว่าคนส่วนใหญ่ต่างต้องการเป็นมินิมัลลิสม์ หรือบุคคลผู้เรียบง่าย มีข้าวของที่จำเป็น และมีความสุขในชีวิต แต่ชีวิตแบบนี้ใช่ว่าจะทำได้ง่าย โดยเฉพาะกับคนที่ขี้เสียดาย แล้วก็ขี้เก็บความทรงจำ
เรานำเทคนิคของซะซะกิ ฟุมิโอะ ที่เขียนไว้ในหนังสือ “อะไรที่ไม่จำเป็นก็ทิ้งไป” แปลโดย นพัฒน์ หัทยานันท์ หนังสือเกริ่นนำไว้ว่า “ชีวิตดีขึ้นได้ง่ายๆ แค่ทิ้งสิ่งที่ไม่สำคัญไปซะ” ซะซะกิซัง แนะนำเทคนิคถึง 55 กฎด้วยกัน หนังสือเล่มนี้ติดอันดับขายดี พิมพ์มา 17 ครั้ง และน่าจะมีครั้งต่อๆ ไป เราจึงมั่นใจว่าใครๆ ก็คงอยากเป็นมินิมัลลิสม์
เรานำเสนอบางกฎที่น่าสนใจ อย่างกฎข้อ 2 การทิ้งคือ ศิลปะ ซะซะกิซัง บอกว่า การทิ้งข้าวของไม่ได้ใช้เวลามากเลย แต่ที่ใช้เวลาจริงๆ คือการนั่งตัดสินใจทิ้งต่างหาก แต่ยิ่งทิ้งมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเชี่ยวชาญในการทิ้งมากขึ้น เมื่อได้เรียนรู้วิธีการทิ้ง ระยะเวลาในการตัดสินใจทิ้งจะสั้นลงๆ สำหรับการสตาร์ทชีวิตมินิมัลของซะซะกิซัง วันแรกเขาเริ่มทิ้งขยะก่อน วันที่ 2 นำหนังสือและซีดีไปขายต่อ วันที่ 3 นำเครื่องใช้ไฟฟ้าไปขาย วันที่ 4 นำเฟอร์นิเจอร์ไปทิ้ง เพียง 1 สัปดาห์ก็สามารถทิ้งได้หมด
กฎข้อ 3 การทิ้งข้าวของไม่ใช่การ “สูญเสีย” แต่คือ “การได้รับ” เป็นอย่างนั้นได้อย่างไรนะหรือ ก็เพียงโฟกัสเสียใหม่ จากการอาลัยอาวรณ์สิ่งของที่ทิ้งไปแล้วที่มองไม่เห็นด้วยตา มาเป็นการมองสิ่งที่เห็นตรงหน้า นั้นก็คือพื้นที่ห้องที่กว้างขึ้น การทำความสะอาดง่ายขึ้น และการใช้พลังงานที่น้อยลงจากข้าวของที่มีน้อยลง
กฎข้อ 4 หากทิ้งไม่ได้เสียที ไม่ต้องรีบตัดสินใจ แต่ต้องเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงเหตุผลที่ไม่สามารถทิ้งของพวกนั้นไปได้ พลางจับของชิ้นนั้นไปด้วย ราคาแพงหรอ รู้สึกผิดต่อคนที่ให้มาหรอ ละอายใจที่ใช้ของพวกนั้นไม่หมด หรือรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังทิ้งความทรงจำเลยทิ้งไม่ได้ หรือทิ้งไม่ได้เพราะขี้เกียจกันแน่ เพราะบางทีการทิ้งสิ่งของก็ต้องใช้เวลาและยุ่งยากเหมือนกัน
กฎข้อ 5 ไม่มีสักวัน แต่ต้องทำเลย หมายถึง เมื่อคิดจะมีชีวิตมินิมัล ให้เริ่มทิ้งเลยไม่ต้องให้มีเวลาก่อน หรือสบายใจก่อนค่อยทำ เพราะการทิ้งจะทำให้เรามีเวลามากขึ้นต่างหากในการจัดข้าวของที่เหลือ และการทิ้งแล้วจะทำให้เราสบายใจมากขึ้นด้วย
กฎข้อ 9 เริ่มทิ้งจากสิ่งที่เป็น “ขยะ” ดังที่มีการกล่าวไว้ว่า “การสะสมสิ่งเล็กๆ น้อยๆ นำไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่” ให้เริ่มจากทิ้งกระป๋องเปล่า หรือกล่องใส่ข้าว เปิดตู้เย็นทิ้งของที่หมดอายุ ทิ้งเสื้อผ้าขาดแล้ว ทิ้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียแล้ว เป็นต้น
กฎข้อ 11 ทิ้งข้าวของที่ไม่ได้ใช้มานาน 1 ปี ก็เมื่อตลอด 1 ปีไม่มีเขา เราก็อยู่ได้ ดังนั้นหากไม่มีสิ่งนั้นเราก็สามารถใช้ชีวิตโดยไม่มีปัญหา หากบางสิ่ง 3 ปีใช้สักครั้ง ให้ใช้วิธียืมคนอื่นดีกว่า
กฎข้อ 12 ทิ้งข้าวของที่มีไว้เพื่อคนอื่น ให้ทบทวนจริงๆ จังๆ ว่า เราชอบของสิ่งนั้นจริงหรือเราถึงเก็บไว้ หรือแค่มีไว้เพื่อแสดงคุณค่าของตัวเองผ่านการมีของพวกนั้น เช่น ของแบรนด์เนมหรูหรา เครื่องสำอางราคาแพง หรืออุปกรณ์เดินป่าที่เกินจำเป็น หากรู้สึกเหนื่อยล้าจากการต้องมีสิ่งของมากมายเพื่อคนอื่น ควรปล่อยมือจากของพวกนั้นเสียตั้งแต่ตอนนี้ จดจำเสมอว่าข้าวของที่ชอบ คือ ข้าวของที่ทำให้เราดีใจที่ได้ใช้ และไม่ทำให้รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการรักษาและจัดเก็บ
กฎข้อ 13 สำคัญมาก ให้แยกของที่ “อยากได้” ออกจากของที่ “จำเป็น” ในตอนที่เราอยากได้ให้ถามตัวเองว่า สิ่งนั้นจำเป็นหรือไม่ ช่วยให้เราสามารถปล่อยมือจากสิ่งนั้นได้
กฎข้อ 14 ถ่ายรูปของที่ทำใจทิ้งไม่ได้เก็บไว้ ให้นึกเสมอว่า เราตัดสินใจทิ้งของไม่ได้ ไม่ใช่เพราะราคา แต่คือความทรงจำที่ผูกติดอยู่กับข้าวของ ซะซะกิซัง ถ่ายรูปไว้เป็นพันๆ รูปก่อนทิ้งไป แต่สุดท้ายเขาก็แทบจะไม่ได้กลับไปดู นานวันไปการลบภาพพวกนั้นออกก็ไม่เป็นไร และพอเราทิ้งข้าวของไปเรื่อยๆ เราจะเห็นแต่สิ่งที่เป็น“ปัจจุบัน” มากขึ้น
กฎข้อ 15 แรกสุดต้องจำกัดข้าวของให้น้อยลงอย่างชัดเจน มากกว่าการยึดติดกับการเก็บกวาดและจัดเก็บ เพราะเมื่อข้าวของมีน้อยลง ข้าวของที่เกลื่อนกลาดก็จะน้อยลงตามไปด้วย ตราบใดที่เรายังเก็บกวาด และจัดเก็บ เราก็จะต้องเก็บข้าวของพวกนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นวงจรเรื่อยๆ
กฎข้อ 19 ทำให้พื้นที่ว่างว่างไว้อย่างนั้น เพราะพื้นที่ว่างในบ้านนั่นแหละที่จะทำให้จิตใจของเราสงบ แม้จะมองดูเหมือนเป็นพื้นที่ที่ตายแล้ว แต่พื้นที่เหล่านั้นจะทำให้เรามีชีวิตชีวา
กฎข้อ 20 ทิ้งคำว่าสักวันหนึ่ง ที่ไม่มีวันมาถึง เคยไหมที่เราเก็บของบางอย่างโดยหวังว่าสักวันจะได้ใช้ เช่น กระป๋องใส่ขนมหรือถุงลายสวยๆ สุดท้ายก็กองพะเนิน ให้เลิกคาดหวังจากคำว่า “สักวันหนึ่ง” ข้าวของที่ไม่จำเป็นในตอนนี้ หลังจากนี้ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป “ทิ้ง” ไป
กฎข้อ 21 ทิ้งความลุ่มหลงในอดีต ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียนในวัยเด็กที่ทำให้เราเติบโต หรือ เสื้อผ้าตัวเก่งที่ใส่แล้วทำให้เราเปล่งประกาย หรือของขวัญแห่งความทรงจำที่ได้มาจากแฟน หากเอาแต่หลงใหลอยู่กับอดีตก็คงไม่มีอะไรใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต หากไม่ยอมสละทิ้งข้าวของที่เคยสำคัญในอดีตให้ได้ “ปัจจุบัน” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดก็จะมลายหายไปตลอดกาล เพราะการสนใจข้าวของในอดีตก็เหมือนกับการที่เราเอาแต่สนใจตัวเองในอดีต หากอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างก็ให้เหลือข้าวของที่จำเป็นใน “ตอนนี้” เอาไว้เท่านั้น
กฎข้อ 23 รู้สึกถึงความเปล่งประกายในหัวใจ ตอนที่จะเลือกข้าวของเพื่อนำไปทิ้ง ให้ใช้มือสัมผัสของทีละชิ้นและให้เหลือไว้แต่ข้าวของที่ทำให้หัวใจของเรารู้สึกเปล่งประกายจริงๆ และต้องเป็นความรู้สึกปัจจุบัน ไม่ใช่ของราคาแพงที่รักษามานาน ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่ชิ้นโปรดของเราอีกต่อไปแล้ว
กฎข้อ 33 เก็บข้าวของที่ปลุกเร้าความทรงจำเอาไว้ หมายถึงรู้ถึงเหตุผลที่จะเก็บไว้ นั่นก็คือไม่สามารถหาชิ้นไหนมาแทนที่ได้แล้ว ไม่อยากได้ชิ้นอื่นแล้ว หากยังตั้งคำถามว่าไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม หรือนึกไม่ว่าออกว่า มีไว้ทำไม คือข้าวของที่จะต้องทิ้งหรือขายต่อ
กฎข้อ 35 ยังจำของขวัญที่ให้คนอื่นได้ไหม ทิ้งยากที่สุดเลย หากทิ้งแล้วเหมือนกำลังเหยียบย่ำความรู้สึกของเขา รู้สึกตัวเองเป็นคนเย็นชา แต่คิดให้ดีเราเคยจำได้ไหมว่าเราเคยให้ของขวัญใครไปบ้าง
กฎข้อ 36 ทำอย่างไรกับข้าวของของผู้เสียชีวิตที่เราอยากเก็บความทรงจำเอาไว้ ลองนึกถึงความรู้สึกของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว การให้ความสำคัญกับข้าวของของเขาเป็นเรื่องสวยงาม แต่คนที่จากโลกนี้ไปแล้ว คงไม่คาดหวังให้เราต้องทุ่มเทพลังกายเกินจำเป็น และเหนื่อยล้ากับข้าวของพวกเขาที่ทิ้งไว้ ไม่อยากให้เราต้องระทมทุกข์หรือรู้สึกลำบากใจกับข้าวของพวกนั้น ผู้เสียชีวิตไปแล้วคงอยากจะภาวนาให้คนที่ยังอยู่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกๆ วันโดยไม่ต้องมาปวดหัวกับข้าวของของเขา
กฎข้อ 37 อดีตของเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับรูปถ่าย ไดอารี่ หรือสิ่งของ ต่อให้ทิ้งไป อดีตของเราก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในความทรงจำของเราเสมอ ยิ่งเป็นอดีตที่อยากลืม ข้าวของพวกนั้นก็เป็นข้าวของที่เราจะลืมมัน และไม่ได้จำเป็นสำหรับเรา สุดท้ายเราจะเหลือแต่ความทรงจำในชีวิตที่จำเป็นเท่านั้น ก็เมื่อสิ่งสำคัญต่างๆ ถูกเก็บไว้ในตัวเราแล้ว
กฎข้อ 41 ข้าวของชิ้นไหนหาเช่าได้ก็ให้เช่าแทน เช่น เลนส์ซูม กระเป๋าเดินทางเมื่อไม่ค่อยได้ไปต่างประเทศ อุปกรณ์ปีนเขา หรือ ดำน้ำ เช่าชุดไปงานโรงเรียนของลูก หากใช้บ่อยๆ จริงๆ ค่อยซื้อ
กฎข้อ 42 โชว์ของที่ทิ้ง และห้องของตัวเองให้ทุกคนดูผ่านโซเชียล เผื่อว่ามีใครอยากได้ หรือกำลังตามหาของพวกนั้น เราจะได้ไม่ต้องทิ้ง ความรู้สึกผิดของเราก็จะลดลงด้วย และยังได้ความดีใจที่ได้ทำเพื่อคนอื่นอีกด้วย แถมเกิดแรงผลักดันในการทิ้งข้าวของต่างๆ ให้คนอื่นๆ ได้เข้าสู่ชีวิตมินิมัลด้วย
กฎข้อ 43 ลองตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าหากมีของโดนขโมยไป จะอยากซื้อของนั้นกลับมาในราคาเดิมไหม หรือหากจะต้องย้ายบ้านอาทิตย์หน้าจะหยิบข้าวของพวกนี้ไปด้วยหรือไม่ เพราะทุกวันนี้เรามีแต่ข้าวของที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเก็บไว้ทำไมอยู่เต็มไปหมด ดังนั้นการตั้งคำถามกับข้าวของชิ้นต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ และเท่ากับเป็นการตั้งคำถามกับตัวเราเองด้วย
กฎข้อ 44 ลองทิ้งแบบหลอกๆ เช่น นำไปซ่อน หรือเก็บใส่ถุงขยะกองไว้ ผ่านไป 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน หากใช้ชีวิตโดยปราศจากข้าวของพวกนั้นได้ ก็แสดงว่าข้าวของพวกนั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเรานั่นเอง หากจำเป็นต้องหยิบมาใช้ ก็ไม่จำเป็นต้องทิ้ง
กฎข้อ 46 ซื้อ 1 ชิ้น ต้องทิ้ง 1 ชิ้น เรียกว่ากฎแห่ง In & Out เช่น ตั้งกฎไว้กับตัวเองว่า ซื้อของ 1 ชิ้นต้องทิ้ง 1 ชิ้น หรือ ซื้อเสื้อผ้าใหม่ 1 ตัวต้องทิ้งตัวเก่าไป 1 ตัว เป็นต้น หรือจะทิ้งมากกว่า 1 ก็ได้หากข้าวของในบ้านมีเยอะมากจริงๆ
…การทิ้งไม่ได้เท่ากับการลืมเลือน แต่เพราะเราได้ทิ้งไปแล้วต่างหาก ถึงทำให้มีข้าวของที่เราไม่สามารถลืมมันได้ ตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า ให้คุณค่ากับข้าวของจนเท่ากับคุณค่าของตัวเองหรือไม่? หรือให้คุณค่ากับข้าวของจนมันได้กลายเป็นเจ้าชีวิตของเราหรือไม่? มันเป็นแค่ข้าวของชิ้นหนึ่ง ชีวิตควรจะมีข้าวของที่สำคัญกับตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ของที่มีไว้เพื่อให้ใครมาสนใจในตัวเรา
Total Visit : 36030