back to top

21 เทคนิค บ่มเพาะวัยเยาว์ ให้เติบโตอย่างมั่นคง

สงสัยหรือไม่ว่าทำไมเพื่อนหรือคนที่เรารู้จักถึงมีพฤติกรรม หรือแสดงออกแบบนั้น และทำไมแตกต่างกับเรา ทำไมคนนั้นถึงเป็นคนดีของสังคม ทำไมบางคนถึงมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ก็เพราะการเลี้ยงดูของผู้ดูแลเราตั้งแต่ยังเด็ก ไม่เฉพาะพ่อแม่แต่ทุกคนที่เลี้ยงดูเรามา มีหลายเหตุผลที่พบว่ามีบางอย่างขาดตกบกพร่องไปในระหว่างการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิด แล้วก็พบว่าพฤติกรรมเล็กๆ ของพ่อแม่ที่คิดว่าไม่สลักสำคัญ แต่กลับส่งผลยิ่งใหญ่ต่อลูกในอนาคต ซึ่งเราค้นพบจากการอ่านหนังสือ “เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก” โดยนพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น และนักเขียนที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ

เรานำบางส่วนที่สำคัญมาฝากผู้อ่าน 21 เรื่อง 
1. ขวบปีแรกสำคัญที่สุด พยายามอย่าจากลูกไปไหนไกล เพราะขวบปีแรก คือความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นขวบปีแห่งนาทีทอง ที่ทารกจะสร้างความไว้ใจต่อโลกและแม่ หากขาดความไว้เนื้อเชื่อใจทารกจะพัฒนาต่อไปไม่ได้ 

2. ทารกแรกเกิดชอบมองใบหน้าที่ดวงตาจ้องมองมายังพวกเขาตรงๆ ไม่ชอบมองใบหน้าที่ดวงตาหันไปทางอื่น และตอบสนองทางลบต่อใบหน้าที่เฉยเมย ดังนั้นสามเดือนแรกที่ขาดไม่ได้ คือใบหน้าของแม่ที่มีดวงตา และมีดวงใจ ที่ทารกต้องใช้ในการสร้างสายสัมพันธ์ และนอกจากใบหน้าของแม่แล้วยังมีเสียงที่สูงต่ำขึ้นลงของแม่ที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยทารกจะเปล่งเสียงตอบสนองและเรียกร้องการตอบสนอง หากพบการเฉยเมยพวกเขาจะเปล่งเสียงให้ดังขึ้น 

3. เด็กเรียนรู้ได้รวดเร็วว่าตนชอบใบหน้า เสียง และกลิ่นของผู้เลี้ยงดูหลักที่มอบปฏิสัมพันธ์อันอบอุ่นและต่อเนื่องสม่ำเสมอ

4. เด็กจะตอบสนองต่อความผูกพันที่ไม่มั่นคงหลายแบบ ด้านหนึ่งจะไม่เป็นฝ่ายเข้าหาเมื่อผู้เลี้ยงดูอยู่ใกล้ๆ เพื่อป้องกันตนเองจากความผิดหวัง และมักทำตัวแบบลูกแหง่ ไม่ยอมแยกจากผู้เลี้ยงดู ราวกับพยายามให้ผู้ใหญ่แสดงพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ตรงนี้เชื่อมโยงกับการมองเห็นคุณค่าในตนเอง และการรู้จักควบคุมตนเอง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของทักษะสมองด้านบริหารจัดการ (EF : executive function) ไปถึงผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการหรือปัญญาในอนาคต 

5. หากผู้เลี้ยงดูมีพฤติกรรมยากจะคาดการณ์ได้ รวมถึงมีพฤติกรรมที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ดุด่าว่าตีเป็นประจำ ทารกจะไม่สามารถหาแนวทางจัดการพฤติกรรมของตนเพื่อให้อีกฝ่ายตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม เชื่อมโยงไปสู่ภาวะซึมเศร้า ดื้อ ต่อต้าน เกเร และก้าวร้าว 

6. การปาข้าวของของทารกลงบนพื้น บางทีก็โยน บางทีก็ปัด เป็นพัฒนาการของเด็ก เขากำลังทดสอบพลังกล้ามเนื้อต้นแขนและมือ ว่าเขาจะปัด โยน หรือปาได้ไกลแค่ไหน 

7. เปิดพื้นที่ให้เขาได้เดิน หยิบ จับ สำรวจ 

8. เด็กๆ จะเดินหาจุดหวงห้ามเสมอ เช่น ปลั๊กไฟ บันได เตา เมื่อไหร่ที่เขาพบทางต่างระดับ จะพยายามทดลอง แล้วหกล้มตกลงไป จนกว่าเขาจะทำได้ เป็นการทดสอบข้อห้าม และทดลองพลังกล้ามเนื้อ และพลังใจ

9. เด็กเล็กจะเรียนรู้ผ่านระบบประสาทสัมผัส ทั้งการมอง ฟัง สัมผัส ดมกลิ่น และชิมรส เขาจะแยกแยะวัตถุด้วยการดูคุณสมบัติมากกว่าดูรูปลักษณ์ จะรู้จักเก้าอี้และเรียกทุกอย่างที่นั่งได้ว่าเก้าอี้ รู้จักกระเป๋า และเรียกอะไรที่ใส่ของได้ว่ากระเป๋า 

10. แม่ที่ให้นมลูกคือแม่ที่มีอยู่จริง ทารกกำลังเรียนรู้ว่าใครเป็นเจ้าของน้ำนม หัวนม เต้านม เสียงหัวใจ เสียงร้องเพลง อ้อมกอด 

11. การเรียนรู้ภาษาที่ดีของทารกเป็นการเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์ มีงานวิจัยพบว่าเมื่อทารกอเมริกันคลุกอยู่กับชาวจีน เขาจะเรียนรู้จังหวะเสียงแบบคนจีนได้ ในขณะที่ทารกที่ดูวิดีโอคนจีนคนเดียวกันพูด กลับไม่สามารถเรียนรู้ได้ 

12. ข้อดีของการอ่านนิทานของคุณแม่ มีส่วนพัฒนาภาษาของลูก โดยให้ทารกนอนข้างๆ และเปิดอ่านหนังสือไปด้วย จะทำให้ทารกรู้ได้ถึงการจัดเรียงพยัญชนะและสระเมื่อได้เห็นอักขระซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง

13. ภาษาแรกของทารกเป็นการสื่อสารสองทางของคนสองคน คือ แม่ลูก และพ่อลูก ดังนั้นพ่อหนึ่งภาษา แม่หนึ่งภาษา ทำได้ตั้งแต่แรกเกิด 

14. ทารกใช้ภาษาท่าทางมากในช่วงอายุ 10-18 เดือน แล้วเริ่มใช้ภาษาพูดมาแทนที่ภายหลัง โดยเด็กมักใช้คำพยางค์เดียวก่อนที่จะใช้คำสองพยางค์ในเวลาต่อมา เด็กอาจจะใช้คำหนึ่งแทนที่อีกคำหนึ่งในช่วงที่จำนวนคำศัพท์ยังไม่มากพอ เช่น ใช้คำว่าผึ้งแทนแมลงอื่นๆ หรือหมาแทนม้าและวัว เป็นต้น 

15. อ่าน เล่น ทำงาน เป็นวิธีฝึกเด็กให้กำกับตัวเอง การอ่านช่วยสร้างแม่ที่มีอยู่จริง ช่วยพัฒนาภาษา การเล่นบทบาทสมมติก็เป็นวิธีพัฒนาทางภาษาที่ดีมาก และภาษาจะกลับมาช่วยให้เด็กควบคุมตนเองได้ดีขึ้น

16. แม่ที่ใส่ใจต่อจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกของลูกสม่ำเสมอ จะช่วยให้ลูกสามารถล่วงรู้ความต้องการของผู้อื่นได้ดีกว่า และมีแนวโน้มจะแปลเจตนาของผู้อื่นไปในแง่ดี โดยแสดงออกให้เห็นในการเล่นกับเพื่อนหรือพี่น้อง 

17. บ้านที่ด่าทอ ใช้กำลัง พ่อแม่มีอารมณ์ต่อกันมาก และต่อลูกมากๆ จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมการเล่นที่รุนแรงเมื่อเล่นกับเด็กคนอื่นหรือพี่น้อง และมีการเล่นที่น่าเป็นห่วง เช่น เล่นฆ่ากัน แขวนคอ หรือตัดคอ เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้เด็กมีแนวโน้มจะแปลเจตนาของผู้อื่นไปในทางร้าย 

18. การถกเถียง และต่อสู้กันแบบทั่วไประหว่างพี่น้อง และเด็กคนอื่น เป็นสิ่งจำเป็นต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็ก เขาต้องผิดใจกันบ้าง เพื่อจะได้เรียนรู้กันและกัน พ่อแม่ควรหยุดไว้ที่คำบอกเล่าและความรู้สึกของแต่ละคน ไม่ต้องก้าวข้ามไปตัดสินใครผิดใครถูก การแยกวงโดยไม่พูดอะไรจะดีกว่า ซึ่งเด็กเรียนรู้วิธีดับอารมณ์ตนเองได้

19. พ่อแม่ที่มักก้าวร้าว รุนแรง ทำโทษ ลำเอียง จะทำให้เด็กๆ บกพร่องทางสังคม เพราะเขาจะตีความพฤติกรรมของคนอื่นไปในทางร้ายเสมอ ตรงข้ามพ่อแม่ที่อบอุ่นกว่า เปิดกว้างกว่า รับฟังมากกว่า ไม่ตัดสินผิดถูก จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สังคมตามที่เป็นจริงมากกว่า และตีความพฤติกรรมของคนอื่นไปในทางบวกอยู่เสมอ 

20. ปล่อยให้เด็กเล่นบทบาทสมมุติ จะช่วยให้เด็กเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ยอมรับกฎเกณฑ์ และยอมรับบรรทัดฐานของสังคม เช่น เล่นเป็นพนักงานดับเพลิง เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ พนักงานขับรถจะไปช่วยเพื่อนๆ ดับเพลิง แต่ถูกห้าม เพราะมีหน้าที่เฝ้ารถ เด็กก็จะยอมรับกติกาโดยดี นำไปสู่การเรียนรู้บรรทัดฐานของสังคม เช่น ห้ามทำร้ายคนอื่น ควรช่วยผู้อื่น เป็นต้น และสุดท้ายเด็กจะพัฒนาสำนึกของความเป็นกลุ่ม เห็นความสำคัญของเพื่อนในกลุ่มมากกว่านอกกลุ่ม ตอบสนองทางบวกมากกว่า และเห็นอกเห็นใจมากกว่า 

21. สามขวบแรกให้บริหารความจำโดยปริยายและความจำใช้งาน โดยฝึกให้เด็กรู้จักเวลาดูดนม และเวลานอนต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เขาจะเรียนรู้ตัวบท เด็กจะทำได้เองเมื่อถึงเวลา โดยไม่ต้องบังคับ และจะเริ่มจดจำกิจวัตรใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา แล้ววันหนึ่งเขาจะรู้เวลาที่ควรเก็บจานไปล้าง แปรงฟัน อาบน้ำ ไปอ่านหนังสือ รู้เวลาตื่นนอน เก็บที่นอน ใส่เสื้อ กางเกง 

และสามารถเสริมความจำให้เด็กด้วยการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ไปสวนสัตว์ แล้วกลับมาทบทวนว่าเขาได้เห็นอะไรอย่างละเอียด เช่น สิงโตอยู่ในกรง ตัวใหญ่ แผงคอสะท้อนแสงสีทอง จะทำให้เด็กจำเหตุการณ์ไปสวนสัตว์ได้ดีกว่าแม้เวลาจะผ่านไปหลายปี โดยโรงเรียนอาจให้เด็กนั่งเป็นกลุ่มพูดคุยกันถึงกิจกรรมที่ผ่านมา เด็กๆ จะได้ความจำโดยปริยายที่ยืดหยุ่น และให้เขียนถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยความสุข จะช่วยพัฒนาการของความจำโดยรวมได้ดียิ่งขึ้น 
.
ดาวน์โหลดฟรี! หนังสือ ‘เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก’
https://bookscape.co/wp-content/uploads/2020/01/เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก-221262.pdf