back to top

หยุดละเลย หยุดโศกนาฏกรรม เสียงสะท้อนจากเด็กถึงผู้ใหญ่

ปัง ปัง ปัง… พลันเสียงปืนดังจากห้างสรรพสินค้าใหญ่กลางเมือง พร้อมกับเสียงหวีดร้องอย่างตื่นตกใจอื้ออึงของผู้คนนับพัน พนักงานร้านอาหารต่างวิ่งหลบภัยอย่างไร้จุดหมายท่ามกลางพายุฝนเทกระหน่ำในวันนั้น

วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เกิดเหตุการณ์กราดยิงอีกคราในประเทศไทย และมีผู้มีเสียชีวิต แต่ที่น่าเศร้าใจคือเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากเด็กอายุเพียง 14 ปี และสร้างผลกระทบตามมามากมายเกินคาดเดาทั้งผู้ก่อเหตุ ครอบครัว สังคม รวมถึงประเทศ

เหตุการณ์ครั้งนี้ ต้องให้เด็กวัยรุ่นมาช่วยสะท้อนมุมมองถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และเสนอแนวทางที่จะไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก เพจ THE HUMANs : ยอดมนุษย์หยุดโรค ได้คุยกับเตชินท์-ชินท์ณภัทร โต๊ะเส็น รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ที่ต้องประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ขณะเดียวกันก็คลุกคลีและทำกิจกรรมกับรุ่นน้องๆ และเพื่อนรุ่นเดียวกัน ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สภาเด็กฯ เป็นหนึ่งในองค์กรที่ต้องเข้าแลกเปลี่ยนกับหลายภาคส่วน เพื่อหาทางป้องกัน

เตชินท์ บอกว่า สุขภาพจิตไม่ใช่เป็นเรื่องของเด็กหรือวัยรุ่นอย่างเดียว ทุกคนทุกช่วงวัยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหานี้ แต่ถูกมองข้าม เพราะเป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องที่อยู่ในความคิดของแต่ละคน แต่สุดท้ายก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เช่นเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นต้น

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้อ่อนไหว ฟันธงไม่ได้ 100% ว่าเกิดจากปัจจัยอะไร ต้องย้อนไปดูว่าเด็กที่ก่อเหตุเคยมีปัญหาอะไรมาก่อนหรือไม่ แต่เบื้องต้นคิดว่าพื้นฐานการเลี้ยงดูในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงปัญหาที่มาของปืนมาถึงมือเด็ก 14 ได้อย่างไร และคำถามต่อห้างสรรพสินค้าที่สามารถให้คนๆ หนึ่งนำอาวุธเข้าไปได้

เรื่องนี้มีหลายภาคส่วนต้องทบทวน และปรับปรุง จะปล่อยปละละเลยไม่ได้อีกต่อไป เตชินท์ สะท้อนบทเรียนและทางแก้ไขของแต่ละภาคส่วนไว้ว่า ในเรื่องแรกตัวเด็กเอง เราต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็กว่า เขาจะเลียนแบบไอดอล ไม่ว่าจะเป็นยูทูบเบอร์ หรือติ๊กต๊อกเกอร์ คิดแต่ว่า “คนอื่นทำได้ ฉันก็ทำได้” อยากมีตัวตน อยากให้คนรู้จัก อยากมียอดไลก์ โดยไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือเกราะป้องกันตัวเอง แยกแยะไม่ได้ และไม่รู้ว่าทำแล้วเกิดผลอย่างไร ซึ่งตอนนี้เด็กอายุน้อยก็ใช้โซเชียลแล้ว สิ่งที่สภาเด็กฯ พยายามสื่อสาร คือความระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อหลัก และโซเชียลมีเดียที่นำตัวตนของเด็กออกมาเปิดเผยทุกอย่าง รวมถึงการปฏิบัติการของเด็ก ซึ่งเรื่องนี้มี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำกับอยู่ หลายคนทำผิดไม่รู้ตัว

“เราไม่ได้ปกป้องเด็กที่กระทำผิด แต่เราไม่ต้องการให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ”  

ทางด้านการเลี้ยงดูของครอบครัว เชื่อว่าพ่อแม่ย่อมหวังดีต่อลูกเสมอไม่ว่า จะยากดีมีจนอย่างไร พ่อแม่ผู้ปกครองต้องให้เวลา ต้องเข้าใจ รับฟัง แชร์กับลูกบ่อยๆ สนับสนุนความคิดของเขาหากเขาอยากจะทำหรือเป็นอะไร ไม่ไปกดดันลูกเกินไป ซึ่งไม่ว่าจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะหรือไม่ ปัญหาเกิดขึ้นได้หมดหากละเลยลูก และไม่มีเวลาให้เขามากพอ ถ้าเป็นพ่อแม่ที่ไม่พร้อมก็ต้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วย

มาถึงโรงเรียน แต่ละวันเด็กใช้เวลาอยู่กับโรงเรียนมากกว่าอยู่บ้าน โรงเรียนจึงมีบทบาทที่จะช่วยเด็กได้ ตนเอง เสนอให้มีนักจิตวิทยา และคลินิกจิตวิทยาประจำโรงเรียน ซึ่งไม่ใช่แค่มีครูแนะแนว แต่เป็นนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ที่มีความรู้ในการให้คำปรึกษามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ซึ่งจะง่ายกว่าเด็กคนหนึ่งจะเดินทางไปคลินิกในโรงพยาบาล เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะเดินเข้าไปขอคำปรึกษาในโรงพยาบาลเป็นเรื่องใหญ่มาก และการที่สังคมมักมองว่าคนเข้าไปปรึกษาจิตแพทย์ คือคนบ้า ทำให้เด็กไม่ไปขอคำแนะนำ

ปัจจุบันบางโรงเรียนมีนักจิตวิทยาในโรงเรียนแล้ว แต่หลายโรงเรียนก็ไม่มี ที่ว่ามีประโยชน์อย่างมาก เพราะง่ายต่อการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเด็ก และอาจมีการรับส่งลูกกันระหว่างครูกับนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนหากเห็นเด็กมีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถเข้าไปปรับทัศนคติเด็กแต่เนิ่นๆ ป้องกันการสะสมพฤติกรรมนำไปสู่ความรุนแรง และสามารถแจ้งผู้ปกครองให้รับทราบได้ก่อนที่จะเกิดปัญหาได้ นอกจากนี้นักจิตวิทยาในโรงเรียนก็สามารถช่วยเด็กที่เข้ามาปรึกษาในเรื่องอื่นได้ด้วย เช่น การกระทำรุนแรงของครู การถูกบูลลี่ หรือบางทีเด็กก็มีความรัก อกหัก หรือมีเซ็กส์ในวัยเรียนก็มี

อีกเรื่องที่อยากเสนอให้โรงเรียนปรับ เป็นเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โรงเรียนต้องไม่สอนให้เด็กเก่งแบบเดียวกันหมด เช่น ต้องเก่งเลข คณิต วิทย์ หรือแม้แต่สอนเพศศึกษาก็สอนเฉพาะว่ามีถุงยางแจกเท่านั้น แต่ต้องสอนการใช้ชีวิต หรือสอนวิธีคิดให้เขามากขึ้น ให้สามารถเอาตัวรอดได้ สามารถอยู่กับคนในสังคม และไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม

สำหรับบทเรียนของหน่วยงานต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึง เตชินท์ ย้ำว่า ความปลอดภัยของทุกๆ คน ให้เปรียบเทียบสนามบินกับห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีคนจำนวนมากเข้าออกไม่แตกต่างกัน แต่สนามบินมีมาตรการตรวจอาวุธเข้มข้น ดังนั้นห้างสรรพสินค้าก็ควรทำเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ต้องปรับกฎหมายด้วยในกรณีเด็กทำผิด อาจมีบทลงโทษเป็นขั้นบันได เช่น ผิดครั้งแรก ผิดครั้งที่สองสามจะลงโทษอย่างไร โดยไม่ควรมีข้อยกเว้นกฎหมายให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าทำผิดแล้วต้องรับโทษ

เตชินท์ บอกมาถึงคนในสังคมด้วยว่า ต้องทบทวนเช่นเดียวกัน ทุกคนต้องตระหนักว่า การส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับเด็กมีผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ เพราะเด็กเล็กสามารถเข้าถึงโซเชียลได้หมด ซึ่งเราไม่รู้ได้ว่าคนที่มีภาวะเสี่ยงคล้ายคลึงกันอาจก่อเหตุ และหากเราทุกคนไม่ตระหนัก และทำเหมือนเดิม วันหน้าอาจไม่ใช่เกิดที่ห้างสรรพสินค้าแต่อาจเป็นที่อื่นก็ได้ ตอนนี้ถือว่าทุกพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด หัวใจสำคัญ คือจะทำอย่างไรให้เราทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้กับคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต

รวมถึงกรณีการเทรนการเอาตัวรอด “หนี-ซ่อน-สู้” อย่างที่มีการบอกให้ทำเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งปัจจุบันไม่มีการเทรน ทุกคนใช้จิตใต้สำนึกว่าต้องทำ ในบางประเทศจะมีการเทรนเป็นประจำ เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น เพราะขณะเกิดเหตุยากที่จะประเมินสถานการณ์

หลายคนโทษโลกดิจิทัล โลกเสมือน หรือเมตาเวิร์ส ที่ทำให้เด็กมีปัญหาทางจิตใจ และมีพฤติกรรมรุนแรง แต่เตชินท์ มองว่า ดิจิทัลมีประโยชน์ ทำให้เราประหยัดทรัพยากร ทั้งบุคลากร และเวลา อยู่ที่วิจารณญาณมากกว่า แต่จริงๆ แล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม อย่างไรเสียก็ต้องมาเจอคน ต้องเจอเพื่อน แต่เด็กอาจจะยังไม่มีวิจารณญาณมากพอ ทุกคนมีส่วนที่ต้องช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เขา ให้เขาเลือกใช้ในส่วนที่จะเกิดประโยชน์ ส่วนเด็กที่ติดโซเชียล หรือเกมมากเกินไปจนไม่สามารถใช้ชีวิตภายนอกได้ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข โดยเฉพาะครอบครัวและโรงเรียนต้องสอดแทรกด้วยกิจกรรมนันทนาการที่เหมาะกับวัย ช่วยให้เด็กหลุดพ้นจากโลกเสมือนจริง

สำหรับหลายครอบครัวที่มีปัญหาเกินรับมือได้ หรือมาถึงทางตันแล้ว เตชินท์ ย้ำว่า ควรขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ และช่องทางต่างๆ อย่างสภาเด็กฯ ก็มีเพจ Because We Care ที่เราทำงานกับโรงพยาบาลตำรวจ และกรมกิจการเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเพจที่ให้คำปรึกษาปัญหาทางใจให้กับทุกเพศวัย ผู้ปกครองก็สามารถขอคำปรึกษาได้ เพื่อหาวิธีการหรือทางแก้ไขกรณีลูกมีพฤติกรรมเสี่ยง โดยจะมีการส่งต่อเคสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือบ้านพักเด็กด้วย และข้อมูลทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ

โดยเวลาที่เราไปทำกิจกรรมตามโรงเรียนต่างๆ ของสภาเด็กฯ จะนำช่องทางการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ไปบอกกล่าว หรือหากเราพบเห็นเด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงก็จะปรึกษานักจิตวิทยา เพื่อให้ความช่วยเหลือ และเราเองก็เป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ ไปพร้อมกันด้วย เพราะแกนนำหลายคนนอกจากทำกิจกรรมแล้วก็เรียนได้ดี บางกรณีเด็กในโรงเรียนที่เราเข้าไปทำกิจกรรมก็เข้ามาเป็นเครือข่าย เราก็จะให้คำปรึกษาน้องๆ อย่างต่อเนื่อง

เตชินท์ ย้ำในตอนท้ายว่า นอกจากเด็กจะกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นแล้ว เด็กมีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองด้วย ข้อมูลรายงานการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) ขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF พบว่า ฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย โดย 17.6% ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งมาจากปัญหาสุขภาพจิตเป็นหลัก เพราะเด็กไทยถูกความคาดหวังจากครอบครัว โดยเฉพาะเด็กในเมืองที่มีการแข่งขันสูง เด็กถูกเปรียบเทียบระหว่างครอบครัว ได้รับแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมของครอบครัว พ่อแม่มุ่งหวังให้ลูกประสบความสำเร็จ เป็นเจ้าคนนายคน ทำให้เขาไม่มีทางออก และเครียดสะสม

“จริงๆ แล้ว ความกดดันนำไปสู่ความสำเร็จได้ แต่ต้องดูว่าลูกของเรารับได้แค่ไหน การมีเวลาพูดคุยกับลูกสำคัญที่สุด ถ้ามีปัญหาเกินกว่ารับได้ ต้องขอความช่วยเหลือ ไปหานักจิตวิทยา เพราะเราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วจิตใต้สำนึกของแต่ละคนเป็นอย่างไรแม้แต่เราเองก็อาจไม่รู้ตัวเองก็ได้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน การแก้ไขปัญหาอยู่ที่สภาพแวดล้อมทั้งหมด ไม่ใช่เน้นไปที่ตัวเด็กอย่างเดียว ”

เด็กมีปัญหาที่หลากหลาย ล่าสุดที่พบบ่อยขึ้นเป็นเรื่อง Child Grooming หรือการที่คนคนหนึ่งจะเข้ามาตีสนิทให้เด็กตายใจ เพื่อล่วงละเมิดทางเพศในภายหลัง นอกจากนี้ปัญหาของเด็กที่อยู่ในเมืองกับพื้นที่ห่างไกลก็มีบริบทแตกต่างกัน สภาเด็กฯ พยายามนำความคิดของผู้ใหญ่กับเด็กให้มาเจอกัน และหาจุดตรงกลาง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นได้จริงๆ หากทุกคนมองแต่นโยบาย ไม่มองว่าเด็กแต่ละคนไปถึงไหน ความจริงเป็นอย่างไร ช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่จะกว้างขึ้น และไม่มาเจอกัน

………………………………

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “จากใจเพื่อนถึงเพื่อน” (friend for friend) ได้รับการสนับสนุนจาก โครงการพัฒนาผู้นำขับเคลื่อนด้านสุขภาพจิตจากภาคการสื่อสารและภาคการบันเทิงเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศสุขภาพจิตแบบยั่งยืน โดยกรมสุขภาพจิต และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)