มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันปรากฏทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทำให้ทุกๆ ฝ่ายมองเห็นแล้วว่าปัญหาสุขภาพจิตไม่ควรถูกละเลยอีกต่อไป และทุกคนจะช่วยกันได้
“ข่าวคราวที่เกิดขึ้นน่ากลัวมาก แต่ขอให้เราทุกคนนำความกลัวนั้นมาเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง อย่าทำให้เรารู้สึกว่าจะยอมแพ้กับปัญหา ยิ่งอยู่ในจุดที่เราสามารถทำได้ ต้องช่วยกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้ได้ ทำอะไรให้ดีขึ้นในครอบครัว ทำอะไรให้ดีขึ้นในระบบโรงเรียน ในอุดมคติก็ต้องการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายมาก่อน แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่หากบรรทัดฐานของสังคมซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของเราทุกคน หนึ่งคนเปลี่ยน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยขึ้นในครอบครัว ในโรงเรียน หรือในที่ที่เราอยู่ ที่สุดจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยมีพื้นที่ปลอดภัย แม้สิ่งที่ทำจะเป็นสิ่งเล็กๆ และต้องเหนื่อย แต่ก็คุ้มค่า”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินสถานการณ์สุขภาพจิตที่เป็นอยู่ในเวลานี้ว่า น่าเป็นห่วง อะไรที่ไม่คิดว่าจะเคยเห็นก็เกิดขึ้น เหตุการณ์แรกเกิดที่โคราช และมีเหตุซ้ำต่อเนื่อง บ่งบอกถึงสถานการณ์สุขภาพจิตของไทย นอกจากมีการกระทำรุนแรงต่อผู้อื่นแล้ว ยังมีการกระทำรุนแรงต่อตนเอง จากสถิติอัตราการฆ่าตัวตายในไทยที่สูงขึ้น
สาเหตุเกิดจากอะไร ดร.ณัฐสุดา ระบุว่า มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เพราะเราเข้าถึงความช่วยเหลือได้น้อย และไม่มีมุมมองของการส่งเสริมป้องกันให้มีความเข้มแข็งทางจิตใจ รอเวลากว่าที่จะรู้สึกมีปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นปัญหาไปแล้ว นอกจากนี้ยังลังเลใจในการหานักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ จากภาพจำ “หลังคาแดง” ที่ถูกมองว่าต้องเป็นโรคจิต หรือเป็นบ้าถึงต้องไปรับบริการก็ยังมีอยู่ในสังคมไทย ทำให้ความเครียดหรือความไม่สบายใจสะสม ปัญหาก็ถูกยกระดับ นอกจากนี้อีกด้านหนึ่งผู้ให้บริการด้านจิตเวชในบ้านเรามีน้อย เมื่อถึงจังหวะที่ต้องการความช่วยเหลือก็ไม่ได้หาได้ง่าย
นอกจากนี้ยังเกิดจากปัจจัยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จากเมื่อ 50 ปีก่อน สังคมไทยเป็นครอบครัวขยาย อยู่ใกล้ชิดกัน มีระบบสนับสนุนจิตใจซึ่งกันและกัน แล้วก็มีเพื่อนอยู่ใกล้ๆ ที่ปรึกษาได้ แต่ปัจจุบันเราอยู่คอนโดมิเนียมห้องติดๆ กันไม่รู้จักกัน ไม่ทักทาย บางทียังหลบหน้ากันด้วย รวมถึงสภาพสังคมที่มีความเป็นเมือง ทำให้เกิดความโดดเดี่ยว อีกสาเหตุที่ข้ามไปไม่ได้ก็ คือการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่มีงานวิจัยชี้ชัดว่าส่งผลต่อจิตใจ ทำให้เกิดความโดดเดี่ยว จากการแยกจาก และกังวล โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ขาดกลุ่มเพื่อน นั่นเป็นเพราะมนุษย์ต่างต้องการคนพูดคุย สนับสนุนทางใจ จากปัจจัยทุกอย่างปัญหาก็มาปะทุตอนนี้
มีคำถามว่าระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ ปัจจัยไหนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจมากกว่ากัน ดร.ณัฐสุดา ระบุว่า มีการวิจัยพบว่าทั้งสองส่วนต่างเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผล ทางด้านเศรษฐกิจ เรื่องไม่มีเงินเป็นตัวกระตุ้นความเครียดที่สำคัญ ส่วนความสัมพันธ์ก็สำคัญมากเช่นกัน โดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งเราจะพบว่าเพื่อนเป็นกลุ่มที่สำคัญสำหรับวัยนี้ เขาจะแสวงหาการยอมรับการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน และมีความหมายกับเพื่อน
แล้วเราจะลดปัญหาเรื่องสุขภาพจิตของคนไทยได้อย่างไร โดยเฉพาะในวัยรุ่น ซึ่งเขาคืออนาคตของชาติ ยืนยันว่าต้องเปลี่ยนระบบนิเวศทั้งหมดที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต จุดที่สำคัญสุดหากเข้มแข็งก็จะช่วยได้อย่างดี นั่นคือ ครอบครัว ถ้าดูแลลูกหลานอย่างเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย เข้าใจว่าเด็กที่อยู่ในแต่ละช่วงเวลาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างไปจากเรา เขามีความสามารถในการใช้ดิจิทัล ประเด็นอยู่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำให้ครอบครัวเป็นที่ที่ปลอดภัย ต้องสื่อให้เขารู้ว่า ไม่ว่าเขาจะดีหรือร้าย ทำได้ตามที่พ่อแม่คาดหวังหรือไม่ เขามีค่ามีความสำคัญกับพ่อแม่เสมอ อย่างไรก็ตามเข้าใจดีว่าไม่ควรโยนภาระให้พ่อแม่ทั้งหมด เพราะพ่อแม่ก็เป็นหนึ่งในคนที่เครียด และได้รับกดดันเหมือนกัน ดังนั้นระบบนิเวศล้อมรอบตัวที่ดี จะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถดูแลครอบครัวของเขาให้ดีได้
ดร.ณัฐสุดา ย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็กสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใดก็ตาม คนที่เด็กสนใจ คือ ผู้ปกครอง เขาจะกลัวว่าจะทำให้คนที่เขารัก นั้นคือพ่อแม่ผู้ปกครองของเขาเสียใจ เขาแบกรับความรู้สึกของผู้ปกครองโดยที่ผู้ปกครองไม่รู้ตัว และคาดไม่ถึงเลยทีเดียว ส่วนพ่อแม่เองก็คิดเหมือนกันว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าลูก ดังนั้นต่างคนต่างแบกรับซึ่งกันและกัน
สิ่งสำคัญ คือ การสื่อสาร พ่อแม่ต้องสื่อสารใหม่ ว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คะแนนจะดีหรือไม่ หรือไม่ได้ทำในสิ่งที่พ่อแม่ให้ทำ ไม่เป็นไร” แล้วเขาจะก้าวข้ามไปได้ หลายกรณีที่พบ คือเด็กไม่ได้อยากเรียนวิชานั้น แต่ทำให้พ่อแม่ ส่วนพ่อแม่ก็คิดว่า “ฉันก็ทำให้เธอเหมือนกัน” บางกรณีเป็นตลกร้ายเด็กจบการศึกษาด้วยคะแนนสูง บอกว่าทำให้พ่อแม่แล้ว ต่อไปนี้จะทำให้ตัวเอง แต่จะมีเด็กสักกี่คนที่ตกหล่นไประหว่างทาง ไม่สามารถทำได้ตามที่พ่อแม่คาดหวัง ดังนั้นต้องกลับมาคุยอย่างเปิดใจว่า “สุดท้ายความสุขของลูกคืออะไรแน่” “ความสุขของลูกใช่หรือไม่ที่สำคัญที่สุด” และ “ความสุขของลูกไม่ใช่ความสุขของพ่อแม่นะ”
ย้ำกันถึงกลุ่มเด็กวัยกระเตาะราว 14-18 ปี ซึ่งกำลังเปรี้ยวมากในยุคนี้ ดร.ณัฐสุดา เล่าว่า เด็กหลายคนทำผิดและถูกตัดสินไปแล้ว มีงานวิจัยพบว่า เด็กทำผิดซ้ำสูงมาก ทำอย่างไรไม่ให้ทำผิดซ้ำ ก็มีการศึกษาในเด็กที่ไม่ทำผิดซ้ำ พบตัวแปรทางจิตวิทยา ที่ทำให้เขามีความสามารถในการฟื้นพลัง ประกอบด้วย
1. I have รับรู้ว่ามีคนที่ปรึกษาได้พึ่งพิงได้ มีพ่อแม่ มีเพื่อน เห็นค่าเขา ที่สำคัญ คือ เมื่อเด็กทำผิดนอกจากลงโทษแล้ว ต้องบอกด้วยว่า สิ่งที่ถูกต้องที่ควรทำต้องเป็นอย่างไร การที่เด็กไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อาจมาจากในอดีตพ่อแม่ลังเลการสื่อสาร “ขอย้ำว่าการบอกแนวทางที่ถูกต้องกับเขา ไม่ใช่การเอ็ด หรือบ่นไปเรื่อยๆ”
2. “I am” เด็กรับรู้ว่า “ตัวฉันคือใคร” “มีค่ายังไง” “มีความสามารถยังไง” แล้วเขาจะกลับมามองเห็นคุณค่าในตัวเอง และถ้าเขาเห็นแล้วจะไม่อยากพาตัวเองไปเจอปัญหา
3. I can เมื่อไม่สบายใจ เครียด จะใช้อะไรจัดการ จะขอความช่วยเหลือจากใคร เช่น เพื่อนมาแกล้ง แทนที่จะใช้กำลัง เขาจะจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น เขาจะนึกออกว่ามีเคยบอกว่าพูดว่าทำแบบนี้ไม่เหมาะสม เรามีค่า ไม่ควรเอาไปแลก รู้ว่ามีคนช่วยได้ แทนที่จะใช้การปะทะ ก็จะใช้วิธีไปคุยกับผู้ใหญ่ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้มาช่วยเขา
“สิ่งสำคัญของเด็กที่กระทำผิด คือ ต้องทำให้เขารู้ว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ชุมชน สังคม มีคนยอมรับในฐานะที่ “ฉันเป็นสิ่งสำคัญ” แม้ว่าจะมีการกระทำผิด แน่นอนว่า ผิด คือ ผิด แต่ตัวเขาในฐานะมนุษย์ การได้รับการยอมรับเป็นสิ่งสำคัญ หลายภาคส่วนก็พยายามเอาไอดอลเข้าไปพูดคุยกับเด็กที่กระทำผิด ให้เด็กเห็นตัวแบบที่ดี”
มีข้อเสนอให้ปรับบทลงโทษเด็ก เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าทำแล้วต้องถูกลงโทษ ดร.ณัฐสุดา เห็นว่า การลงโทษก็สำคัญ แต่สำคัญกว่านั้น คือ เขาต้องรู้ว่าพฤติกรรมที่ทำไม่ถูกต้องนั้น จะทำให้ถูกต้องคืออะไร ต้องทำอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น เด็กแว๊น นำเขาไปลงโทษอย่างเดียว กลับมาก็มีพฤติกรรมซ้ำเหมือนเดิม พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีบทบาท มีกฎระเบียบกับลูก ให้ลูกทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่บอกว่าที่ทำผิด เพราะเด็กบางคนไม่รู้วิธีที่ถูกต้อง จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ถาวรได้ ไม่ใช่นำไปลงโทษแล้วก็มาอยู่ในสภาพแวดล้อมเหมือนเดิม
ในส่วนของเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย เป็นเด็กมหาวิทยาลัย เราพบว่ามีปัญหาซึมเศร้า และเครียดสูง ซึ่งการเรียนมีผลอย่างมาก จะพบว่าช่วงสอบมีเด็กมาที่ศูนย์บริหารสุขภาพของมหาวิทยาลัยเต็มไปหมด ทำไมการเรียนของเขาจึงสำคัญขนาดนี้ได้ ก็เพราะหากเขาเรียนไม่ดี คนที่เขาห่วงความรู้สึกมากที่สุด คือ พ่อแม่ พ่อแม่จะว่ายังไง จะเสียใจไหม เด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่แกนหลักของเขา คือ “ไม่อยากให้คนที่เขารักเสียใจ” ถ้าพ่อแม่ที่เขารักเสียใจ เขาจะยิ่งเสียใจ ดังนั้นต้องกลับไปดูแลกันและกันในครอบครัว ให้มีการสื่อสารในครอบครัวให้มากขึ้น พ่อแม่ต้องทำให้ลูกรู้ว่าเขามีคุณค่าในแบบของเขา แต้มต่อที่สำคัญ คือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว และการสื่อสารของพ่อแม่ที่รักเขาในแบบที่เขาเป็น เรื่องนี้จะช่วยได้สารพัดปัญหาเลยทีเดียว
สำหรับสถาบันโรงเรียน เด็กจะเชื่อครูมากกว่าพ่อแม่ เท่ากับโรงเรียนฝากหัวใจพ่อแม่ไว้เลย แน่นอนพ่อแม่ก็ไม่ควรฝากอย่างเดียวต้องดูแลเขาด้วยควบคู่กับโรงเรียน ซึ่งในชั้นเรียนนั้นนอกจากมุ่งความสำเร็จทางวิชาการแล้ว การเรียนการสอนในห้องเรียนต้องให้ทักษะชีวิตไปด้วยกัน โดยครูก็ต้องปรับตัวด้วย ไม่ใช้ให้เด็กเรียนทักษะชีวิตนอกห้องเรียน เช่น ไปเข้าค่าย แต่พอกลับมาเรียนในห้องเรียนปกติ ก็เจอสภาพแวดล้อมเหมือนเดิม เด็กก็เอาทักษะชีวิตไปใช้ไม่ได้
การเสริมสร้างทักษะชีวิตให้เด็กสำคัญ ที่ดร.ณัฐสุดา อยากให้ทุกภาคส่วนดึงไปใช้ขยายต่อยอด ประกอบด้วย
1. ทักษะการตระหนักรู้ การจัดการอารมณ์ จัดการความเครียด
2. ทักษะการปรับตัว การรับมือกับความผิดหวัง
3. การเห็นคุณค่าในตัวเอง และผู้อื่น เราเรียกว่า ทักษะอารมณ์สังคม หรือ Social-Emotional Skills
เป็นการให้เด็กตระหนักรู้อารมณ์ของตนเอง และจัดการควบคุมตนเองด้วยวิธีการต่างๆ และตอบสนองอย่างเหมาะสม เช่น สื่อสาร เล่นกีฬา และมีความเข้าใจผู้อื่น เข้าใจสังคม มีทักษะจัดการกับปัญหา ทักษะเหล่านี้มีงานวิจัยพบว่าจะทำให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรง และประสบความสำเร็จ
ในระบบโรงเรียนจำเป็นต้องเพิ่มเติมเข้าไป คือ นักจิตวิทยาในโรงเรียน ซึ่งตอนนี้มีบางโรงเรียนที่มีงบประมาณเท่านั้น โดยยืนยันว่าจะช่วยได้มากและจะเห็นผลดีในระยะยาว ซึ่งเด็กๆ เรียกร้องในหลายเวทีในเรื่องนี้ ซึ่งเห็นว่าสามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยระดับนโยบายมาสนับสนุน เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสนี้เหมือนๆ กัน
เมื่อพูดถึงระดับนโยบาย ถือเป็นภาพแห่งความหวังในสายตาของ ดร.ณัฐสุดา เพราะรัฐมนตรี 3-4 กระทรวงได้ออกมาพูดเรื่องสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดังนั้นหากเห็นความสำคัญและเข้าใจก็จะสามารถผลักดันนโยบายสร้างเสริมสุขภาพจิตได้อย่างดี เพราะการแก้ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องของนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์เท่านั้นต้องทำทั้งระบบนิเวศ ทำอย่างไรที่จะทำให้เราไม่ต้องวิ่งตามปัญหา ทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ
ดร.ณัฐสุดา ฝากไว้ก่อนจบบทสนทนาว่า เราต้องเปลี่ยนมุมมองการดูแลสุขภาพใจ ให้คิดว่าเหมือนกับการดูแลสุขภาพกาย เมื่อเราโดนฝนก็ต้องดูแลตัวเอง อาบน้ำอุ่น นอนพัก ถ้าไม่หายก็กินยาหรือไปพบแพทย์ เช่นเดียวกัน มีปัญหาสุขภาพจิต ต้องดูแลตัวเอง รู้ว่ามีเครื่องมืออะไรใกล้ตัวที่จะรักษาเราได้ มีช่องทางให้คำปรึกษาทางไกล หรือจะไปพบนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ ปัญหาที่เราเห็นปลายทางก็จะลดลงไปได้ในที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีหลายช่องทางที่มาเสริมการทำงานของสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 รวมถึงเฟซบุ๊กแฟนเพจ Here to Heal ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้ผู้มีอาการด้านสุขภาพจิตสามารถปรึกษาผ่านออนไลน์ 24 ชม.โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเราจะมีนักจิตวิทยาคอยตอบปัญหา ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดในเฟส 2
………………………………
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “จากใจเพื่อนถึงเพื่อน” (friend for friend) ได้รับการสนับสนุนจาก โครงการพัฒนาผู้นำขับเคลื่อนด้านสุขภาพจิตจากภาคการสื่อสารและภาคการบันเทิงเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศสุขภาพจิตแบบยั่งยืน โดยกรมสุขภาพจิต และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)