องค์การอนามัยโลกประเมินว่า มีจำนวนกว่า 5% ของประชากรโลกที่ป่วยซึมเศร้า ส่วนของไทยอยู่ที่ 1-2%
ผู้ป่วยซึมเศร้าจะมีมากน้อยไม่สำคัญไปกว่าเขามีวิธีเยียวยา และดูแลตัวเองอย่างไรให้อยู่กับโรคนี้ได้ เราพาผู้อ่านมาทำความรู้จักพี่สมชาย (นามสมมุติ) เขาป่วยซึมเศร้ามากกว่า 5-6 ปี ปัจจุบันยังพบหมอเป็นระยะๆ แต่มีวิธีอยู่กับโรคอย่างมีภูมิคุ้มกัน
บรรยากาศสวนสาธารณะแห่งหนึ่งกลางกรุงแม้จะผ่อนคลาย แต่เมื่อเล่าย้อนกลับไปในช่วงที่ชีวิตพีคหนักๆ สาเหตุของอาการป่วยซึมเศร้า พี่สมชาย เล่าอย่างมีอารมณ์ตึงๆ ว่า ก่อนหน้านี้พี่ทำงานบริษัทฝรั่งมาก่อน พี่ก็แฮปปี้ ด้วยความที่เราทำอะไรทำอย่างทุ่มเทเต็มที่ ตอนนั้นพี่ได้ตำแหน่งพนักงานดีเด่นด้วยนะ
และแล้วไม่กี่ปีถัดมา ความสุขของพี่สมชายค่อยๆ ลดลง เมื่อบริษัทที่ทำอยู่ถูกซื้อกิจการโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย เขา บอกว่า ต้องทำต่อเพื่อให้สิทธิ์เรื่องประกันสังคมต่อเนื่อง พี่รับผิดชอบวางระบบ ตำแหน่งบริหาร เงินเดือนสูง มีหัวหน้างาน มีลูกน้องในทีมที่ต้องทำงานไปด้วยกัน ประชุมแทบทั้งวัน เดินไปประชุมจากห้องนั้นไปห้องนี้ ต้องแข่งขันกับแผนกอื่นๆ ด้วย สำคัญเลยคือวัฒนธรรมองค์กรให้แต่ละแผนกแข่งขันกัน มีการเปรียบเทียบ ด่าลับหลังกัน วิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดข้อผิดพลาด คือ โทษกันไปมา เวลาประชุมถ้ายกมือขอออกความเห็น “คนนั้นทำ”
ส่วนหัวหน้างานก็ไม่ค่อยอยู่บริษัท อยากมาก็มาแล้วแต่อารมณ์ ปล่อยให้ลูกน้องทำงาน บางทีก็เอาข้อมูลคนอื่นมาปั้นเป็นผลงานตัวเอง แต่การที่เราเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่มีการพูดแบบเอาอกเอาใจเจ้านาย แม้ว่าเราจะเป็นคนที่หัวหน้าใช้อะไรก็ทำนะ แต่ก็จะไม่เป็นที่โปรดปราน
ตอนนั้นแม้จะประชุมเยอะ ก็มีช่วงผ่อนคลายบ้างระหว่างเดินไปประชุม แล้วการประชุมแบบเห็นหน้ากันก็ไม่เท่าไหร่ แต่พอมารับโปรเจคขายของ เจอโควิดระบาดด้วย ยอดขายตกลง เกิดคำถามจากหัวหน้าว่าทำไมยอดขายตก และถูกวางโจทย์ว่านอกจากต้องไม่ทำให้ยอดขายตกแล้ว ยอดขายต้องเพิ่มด้วย ซึ่งเป็นไปได้ยากในช่วงโควิดที่ทุกบริษัทก็แย่ตามๆ กันหมด สภาพการทำงานตอนนั้น คือประชุมออนไลน์กับจอคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เช้าจรดดึกดื่น โดยแรงกดดันก็พุ่งมาหาเรา
“บ้านสถานที่แห่งความสุขของเราเปลี่ยนไป ถูกจัดวางมุมหนึ่งเป็นห้องประชุม พี่ประชุมต่อๆ กันทั้งวัน เห็นเมียลูกเดินไปมาเหมือนเงาแต่คุยไม่ได้ เห็นเขากินข้าวกันแต่กินกับเขาไม่ได้ เพราะติดประชุม แถมประชุมซ้อนก็มี”
แรงกดดันมีอีกหลายอย่างในช่วงโควิด เช่น ทำให้อะไรเทาๆ ไม่ถูกกฎระเบียบกติกาทำนอง “บริษัทอื่นก็ทำกัน เราไม่ทำก็ขาดทุน” แล้วเราก็เครียดกับกระบวนการประเมินผลงาน เราสู้คนพูดเก่งเอาใจเจ้านายไม่ได้ แต่ระหว่างนั้นพนักงานที่ทนแรงกดดันไม่ได้ก็ลาออกกันอย่างต่อเนื่องนะ ยกทีมลาออกก็มี
“แรงกดดันต่างๆ เหมือนน้ำกำลังต้มกบที่ค่อยๆ ร้อนขึ้น” พี่แก้ปัญหาด้วยการขอย้ายแผนก หัวหน้าไม่ให้ย้าย จะขอยื่นลาออกก็ไม่ได้รับสิทธิเท่าคนอื่น ก็ทำงานไปต่อในสภาพแบบเดิม แล้วพี่ก็เริ่มมีอาการเยอะขึ้น มีครั้งหนึ่งไม่กินข้าว 2 วัน นอนแปปๆ ก็ลุกขึ้นมาทำงานต่อ นั่งตัวแข็ง
เราถามถึงจุดแตกหัก พี่สมชาย เล่าว่า วันหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ต้องทำแผนโครงการ เราเร่งทำงานกับลูกน้อง ให้ลูกน้องส่งข้อมูลให้เราตอนห้าทุ่มเที่ยงคืน เพื่อให้เราทำงานต่อเสร็จงานตอนตีสาม เพื่อประชุมให้ทันแปดโมงเช้า สิ่งที่เราได้รับกลับมาจากหัวหน้างานของเราคือ “ทำถึงตีสาม…ได้แค่นี้เองหรือ” ทั้งที่เราก็ทำเต็มประสิทธิภาพแล้ว เรียกได้ว่าสุดๆ ของเราแล้ว คำพูดสั้นๆ ของหัวหน้างาน ทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองของเราหายไปพริบตา
พี่หน่อง บอกว่า ช่วง 2-3 ปีแรกที่ทำงานบริษัทนี้ พี่ก็ยังไม่ได้ไปหาหมอจริงจัง ไปด้วยอาการเครียด ก็ได้ยานอนหลับไป อาการก็เป็นมากขึ้นตามลำดับ จุดแตกหักของพี่วันนั้นที่ต้องทำงานถึงตีสามพอได้ยินประโยคว่า“ตีสามทำได้แค่นี้เองหรือ” วันนั้นพี่ลางานไปหาหมอแล้วก็นอนโรงพยาบาลด้วยอาการเครียด แล้วก็เป็นมากขึ้น อาการ คือ “ไม่อยากกิน วิตกกังวล อยากแต่จะนอน” พี่อารมณ์เหวี่ยง นอกจากมีคนบอกเดินเหมือนซอมบี้แล้ว ก็ถึงขนาดมีความคิดว่า “ลูกเรียนจบแล้ว ภารกิจเราจบแล้ว ไม่อยู่ก็ได้” พี่ขอลาป่วย 2 เดือนต่อมาก็ลาออกหลังจากอยู่ที่นี้มา 5-6 ปี ระหว่างลาป่วยก็เริ่มไปทำสวนเล็กๆ ที่ซื้อไว้ย่านชานเมือง ปลูกกล้วยขาย อาทิตย์หนึ่งสลับอยู่สวน 3-4 วัน เข้ากทม. 3-4 วัน
ทำสวนอยู่ 1 ปีหลังจากลาออก พอได้เปลี่ยนบรรยากาศ ทำสวนทั้งวัน สวดมนต์เช้าเย็น ก็ไม่คิดมาก พี่สมชาย บอกว่า ทำให้เราดีขึ้น ระหว่างนั้นก็ยังหาหมอรับยาอยู่เป็นช่วงๆ เพราะหมอไม่ให้หยุดยา พี่สมชาย ประเมินตัวเองว่าอาการดีขึ้นแล้ว คิดว่าควรกลับมาอยู่กับลูกๆ กอปรกับเพื่อนชวนมาคุมโรงงานก็เลยกลับมาทำงาน
แต่สภาพการทำงานที่นี่ก็มีปัญหาไม่ต่างอะไรกับทำงานบริษัทใหญ่ ด้วยความเป็นบริษัทที่บริหารแบบครอบครัว และเขาให้เราคุมพนักงานด้วย การที่เคยทำบริษัทใหญ่มาก่อน อะไรที่ควรจะให้พนักงาน หรือเพิ่มสวัสดิการเล็กๆ น้อยๆ เราก็เรียกร้องให้ แต่ที่นี่เซฟมาก แม้ซื้อกรรไกรใช้ในการทำงาน และมาเบิกบริษัท 60 บาทก็มีคำถามว่า “ซื้อแพง” เราก็โต้กลับไป อีกอย่างเรารักษาสิทธิ์พนักงานมากเกินไป ระยะหลังเจ้าของบริษัทก็ไม่ชอบเรา ตอนนั้นยอมรับว่าเหมือนถูกสะกิดต่อม เราก็ใช้เสียงดังโต้เถียงกับเจ้าของบ่อยๆ สุดท้ายเขาก็ดึงงานดูแลพนักงานออก เหลือแต่บริหารทั่วไป ต่อมาเราก็ลาออก หลังทำได้ 1 ปี 8 เดือน
“ภาวะการทำงานในบริษัทครอบครัวแห่งนั้นว่า ก็มีปัญหาน่ะ แต่เรามีภูมิคุ้มบ้างแล้ว ตอนท้ายๆ พี่เข้าสู่วงการดนตรีบำบัด (Music Therapy) ด้วย”
พี่สมชาย เล่าถึงช่วงชีวิตแห่งการบำบัดด้วยดนตรี ว่า พี่เล่นดนตรีมาก่อน แต่พักไปช่วงทำงานเกือบ 20 ปี พอถึงจังหวะนี้ก็เลยสนใจ Music Therapy เริ่มแรกเลยเข้าคอร์สร้องเพลงเป็นกลุ่ม ครูก็ให้เราปรับการร้องประสาน “ให้เราคิดว่าเรากำลังร้องให้คนที่เรารักฟัง ร้องให้ตัวเองฟัง ฟังคนอื่นเขาร้องด้วย” ฝึกร้องไปจนเสียงที่เราเปล่งออกไปเพราะขึ้น เสียงประสานเพราะขึ้น เกิดจากเรามีความสุขมากขึ้น พี่เข้าคอร์สอื่นๆ ตามมาได้เจอจิตแพทย์ นักจิตวิทยา แล้วก็ตามมาด้วยการเล่นดนตรีบำบัด แล้วก็มาทำเครื่องดนตรีทำจากไม้ออกขาย เช่น Kalimba (คาลิมบา) ขลุ่ย และกำลังทำพิณ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการบำบัดทั้งสิ้น ด้วยความที่คอร์สอบรมส่วนใหญ่จัดที่โรงเรียนอนุบาลบ้านรัก ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือก เราก็เลยไปช่วยสอนเด็กๆ เล่นดนตรีด้วย
พอเข้าสู่วงการบำบัดก็ต้องเสียเงินบำบัดต่างๆ มีคนชวนทำด้วย ปัจจุบันพี่สมชาย เลยเข้าสู่วงการทำงานอีกครั้งในตำแหน่งผู้จัดการโครงการ แต่คราวนี้พี่เลือกงานที่เหมาะกับเรามากขึ้น เข้าบริษัท 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นโปรเจค 3 เดือนจบโปรเจคก็ออก เราถามพี่สมชายว่า ไม่กลัวว่าภาวะซึมเศร้าจะกลับมารุนแรงหรือเมื่อต้องกลับมาทำงานอีกครั้ง พี่สมชาย บอกอย่างมั่นใจว่า การบำบัด ทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน แต่เราก็ยังรับยาอยู่นะ เพราะหมอยังไม่ให้หยุดยา แต่เรามีกิจกรรมทำอย่างมีเป้าหมายก็เลยอยู่ได้
พี่สมชาย จบท้ายฝากเราไว้ว่า หลายคนที่มีปัญหาจากการทำงานก็จะคล้ายๆ กันถึงจุดหนึ่งก็จะเหมือน “ซอมบี้” คือ ตัวแข็งๆ เดินเหินเหมือนหุ่นยนต์ เหมือนไม่มีชีวิตจิตใจ สิ่งที่เราต้องทำ คือ หลีกเลี่ยงบรรยากาศที่ทำให้เกิดอาการเครียด และต้องให้หมอช่วยประเมิน เพราะเราอาจมองไม่เห็นตัวเอง…
………………………………
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “จากใจเพื่อนถึงเพื่อน” (friend for friend) ได้รับการสนับสนุนจาก โครงการพัฒนาผู้นำขับเคลื่อนด้านสุขภาพจิตจากภาคการสื่อสารและภาคการบันเทิงเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศสุขภาพจิตแบบยั่งยืน โดยกรมสุขภาพจิต และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)