ข่าวคราวเด็กวัยรุ่นเป็นผู้ที่กระทำความผิด และเป็นผู้ถูกกระทำไม่เว้นแต่ละวัน การปลูกฝังทักษะชีวิตให้กับเด็กทั้งในและนอกห้องเรียนมีความจำเป็น เพื่อให้เด็กสามารถอยู่รอดได้ในสังคมที่อาจมีความดำมืดมาเยือนได้ทุกเมื่อ รู้เท่าทันคน ใช้เทคโนโลยีเป็น และก้าวเดินสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
ทักษะชีวิตที่เด็กควรจะถูกปลูกฝังมีอะไรบ้าง และต้องทำตั้งแต่เมื่อไหร่ THE HUMANs : ยอดมนุษย์หยุดโรค มาหาคำตอบจากโรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ โรงเรียนทางเลือก เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ที่เปิดดำเนินการมากว่า 23 ปี สอนเด็กในระดับเตรียมอนุบาล อนุบาล 1, 2, 3 และประถมศึกษาภายในบริเวณติดต่อกันภายใต้ศูนย์การเรียนชื่อประถมภูมิธรรม ปัจจุบันมีเด็กระดับอนุบาลเรียนอยู่ 220 คน และเด็กประถม 150 คน ครู 62 คน
ปรัชญาของโรงเรียนที่วางไว้ คือ ฝึกฝนพฤติกรรมที่ดีงาม เพื่อพัฒนาจิตใจ และปัญญาให้งอกงาม เราเดินทางไปยังโรงเรียน เพื่อสัมผัสถึงวิธีการเรียนการสอนที่จะทำให้ปรัชญานี้มีผลเป็นรูปธรรม สิ่งที่เราเห็นเบื้องหน้า คือ บรรยากาศที่สงบร่มรื่น พื้นที่ของโรงเรียนเต็มไปด้วยแมกไม้ ปรากฏป้ายข้อความต่างๆ ที่พยายามสื่อสารให้เด็กไม่เพียงรักแต่เป็นอันหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ตั้งแต่บทพิจารณาอาหารบริเวณพื้นที่กินข้าวของชั้นอนุบาล “ข้าพเจ้าขอขอบคุณต่อธรรมชาติ ดังมารดาผู้เกื้อการุณย์ ขอบคุณต่อเหล่ามื้อที่กรุณา ใจอารีย์เกื้อกูลให้ชีวิตเป็นสุข”
เราเห็นเด็กๆ อนุบาลก้มๆ เงยๆ เดินเท้าเปล่าย้ำดินย้ำทรายบนสนามหญ้าอย่างกระตือรือร้น เพื่อหากิ่งไม้ใบไม้ตามสีที่ครูกำหนด เราเห็นการสื่อสารของครูและเด็กๆ ตลอดเวลา ห้องเรียนธรรมชาติของพวกเขาเต็มไปด้วยความสนุกสนานและเสียงเจือยแจ้วปะปนกับเสียงนกร้องรายรอบ เราผ่านเข้าไปยังห้องเรียนแสงเงาของเด็กอนุบาลเช่นกันที่ฝึกประสาทสัมผัสให้เด็กๆ ทั้งตาและหู พร้อมกับให้เด็กสร้างเสียงจากวัสดุต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น นำถุงมาสร้างเป็นเสียงฝน
ลัดเลาะไปยังเวทีแสดงของเหล่าเด็กน้อยที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายมาให้กำลังใจ พวกเขาแต่งตัวเล่นเป็นสัตว์นานาชนิด ทั้งเต้น และร้องเพลงอย่างสนุกสนาน กล้าแสดงออก บ่งบอกถึงพัฒนาการทางกาย และใจที่เชื่อมร้อยกัน เราดูการแสดงของเด็กๆ อย่างเพลิดเพลินจนถึงใกล้เที่ยง มองไปยังโถงกินข้าวของเด็กอนุบาล เขากินข้าวเอง เข้าห้องน้ำ ใส่กางเกงกระโปรงเองในบริเวณที่จัดไว้อย่างเรียบร้อย
‘ครูตุ้ย’ ภัทรพร นิยมไทย ฝ่ายวิชาการ โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ สรุปภาพที่เราเห็นว่า “อดทน กินง่ายอยู่ง่าย สู้สิ่งยาก จิตอาสา” เป็นแนวคิดที่โรงเรียนปลูกฝังผ่านกิจกรรมต่างๆ โรงเรียนไม่เน้นการนั่งเรียนเขียนอ่าน แต่มุ่งให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ในรูปแบบของกิจกรรมและลงมือทำ ภายใต้แนวทางการเรียนการสอนที่เน้นแนวธรรมชาติ และวิถีพุทธ โดยนำหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ของท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มาเป็นแกนหลักในการจัดการศึกษา เรียนรู้เรื่องธรรมชาติกับตัวเรา ธรรมชาติกับสังคม ธรรมชาติกับเทคโนโลยี มีหลักยึดว่า “มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ” ขณะเดียวกันก็ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างหลากหลายทั้งวิชาหลัก ดนตรี ศิลปะ มีวิชาสุนทรียศาสตร์ในธรรมชาติที่ให้นักสื่อสารธรรมชาติมาช่วยสอน
เราจะชวนให้เด็กเห็นความดี ความจริง และความงามด้วยการฝึกฝนพัฒนา 3 เรื่องไปพร้อมกันตามปรัชญาโรงเรียน คือ “พฤติกรรม” ให้กินง่ายอยู่ง่าย มี ”จิตใจ” ร่าเริง อดทน มีน้ำใจ สู้สิ่งยาก และ “ปัญญา” ให้มองในทางที่เป็นกุศล และสร้างสรรค์ เพราะพฤติกรรม จิตใจ ปัญญา ต้องมาด้วยกันเหมือนเสื้อตัวหนึ่ง ต้องมีคอ ปก แขน ต้องกลมกล่อมเข้าด้วยกัน จะให้เขาโลกสวย หรือ มีจิตใจดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสามารถแยกแยะได้ และหาทางออกได้เมื่อเจอปัญหา
ครูตุ้ย เล่าว่า ในระดับอนุบาล เน้นพัฒนาทางกายตามช่วงวัย ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองกินข้าวได้ จำภาพได้ ฟังเสียงได้ แยกแยะพื้นหน้าพื้นหลัง บนล่างซ้ายขวา เติมภาพในช่องว่างได้ ซึ่งทั้งหมดจะมีผลต่อทักษะการอ่านของเขา พร้อมกับฝึกทักษะการสื่อสารไปด้วย เพื่อให้เด็กเล็กบอกความรู้สึก และความต้องการของตัวเองเป็น ขณะเดียวกันก็ปลูกฝังการคิดวิเคราะห์ เคารพความแตกต่าง รับฟัง ทำงานเป็นทีมในทุกๆ กิจกรรมการเรียนรู้
ไฮไลท์ของโรงเรียนอยู่ที่การนำพาให้เด็กใกล้ชิดธรรมชาติที่สุดตั้งแต่เตรียมอนุบาล พาเด็กไปสวน เพื่อเรียนรู้สีของแมลง และสีของธรรมชาติ ให้เก็บดอกไม้มาตกแต่งเทียน การทำสวนเกษตร และกิจกรรมที่สำคัญที่ต้องพูดถึง คือการจัดค่ายสุนทรียภาพในธรรมชาติทุกปีสำหรับเด็กอนุบาล 3 แบบ 4 วัน 3 คืนที่เขาใหญ่ โดยไม่มีผู้ปกครองไปด้วย พาเขาไปหาทวดสมพงษ์ หรือต้นไม้ใหญ่ในป่า ช่วยบ่มเพาะความรักในธรรมชาติให้กับเด็กๆ
ฝั่งของเด็กประถมมีการเรียนการสอนไม่แตกต่างกันเลย น้องๆ จะถูกปลูกฝังพื้นฐานตั้งแต่เรียนอนุบาลแล้ว มาถึงระดับประถมก็จะเพิ่มเติมทักษะในเรื่องการให้เด็กล้มแล้วลุกได้ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น ให้เห็นตามความเป็นจริง เปลี่ยนอกุศลเป็นกุศลผ่านกิจกรรมประดิษฐ์สิ่งของจากขยะ เป็นต้น
การเรียนการสอนที่เน้นแนวธรรมชาติ และวิถีพุทธของโรงเรียน ครูตุ้ย บอกว่า จะช่วยปลูกฝังให้เด็กเข้าใจว่าเค้าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และโลกใบนี้โดยที่ทุกอย่างมีความสัมพันธ์เกื้อกูลกัน มีปัญญาที่จะมองเห็นตามความเป็นจริงและมีปัญญาที่จะมองและเปลี่ยนจากสิ่งที่เป็นอกุศลให้เป็นกุศล และที่สุดจะให้คำตอบเด็กๆ ได้ว่าอยู่อย่างไรให้มีความหมาย ให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น ผ่านการเรียนรู้ที่ร้อยเรียงกันไปจากใกล้ตัวไปนอกตัว จากธรรมชาติไปสู่สังคมรอบข้าง และไปสู่เทคโนโลยีที่จะอยู่ร่วมกันได้ ใช้ให้เป็น ให้เห็นคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
ยกตัวอย่างเราให้เขาสังเกตการเปลี่ยนแปลงของกล้วย และให้เขาบันทึก กล้วยเปลี่ยนจากสีเขียว เป็นเหลือง และมีแมลงหวี่ตอม จะทำให้เขามองเห็นการเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งตั้งอยู่ดับไป มองโลกตามความเป็นจริง สอดแทรกวิธีคิดตามหลักพุทธธรรม หรือความคิดแบบโยนิโสมนสิการด้วย หมายถึงคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ คิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง
การปลูกฝังผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น เขาจะทำได้หรือไม่ได้ เราก็จะให้กำลังใจ สำคัญคือครูจะคอยป้อนคำถามให้เขาคิดตลอด และหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งคำถามจะลึกขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมชวนให้เด็กคิดให้แตกต่างหลากหลาย มีความคิดที่ยืดหยุ่นแก้ปัญหาได้ ซึ่งจะทำให้เขาคิดเสมอว่าโลกนี้ยังมีสิ่งสร้างสรรค์ มีความงาม เมื่อโตขึ้นเจอความเจ็บปวด เขาจะรู้ว่าแม้ขณะนั้น “ฉันก็ยังมองเห็นความงามของมันได้ และเอาออกมาสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำลายตัวเองหรือผู้อื่น”
ขณะเดียวกันแต่ละกิจกรรมจะมีทั้งให้ทำคนเดียว เป็นคู่ และเป็นกลุ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล ฝึกให้เขารู้จักขอบคุณเพื่อนๆ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ มีเรื่องจิตอาสา และทำเพื่อผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ เคารพความแตกต่าง ทำงานเป็นทีมได้อดทนได้ สื่อสารเป็น เพียรสู้สิ่งยาก ล้มแล้วลุกได้ กินอยู่ง่าย รวมทั้งมีปัญญา
แต่การจะร้อยเรียงการเรียนรู้ของเด็กให้ต่อเนื่องไม่ขาดช่วง และทำให้การสื่อสารมีความชัดเจนไปในแนวทางเดียวกัน จำเป็นอย่างยิ่งต้องเชื่อมร้อยเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง และครูเข้าด้วยกัน ครูตุ้ย เล่าว่า ต้องปรับจูนกับผู้ปกครองก่อนตัดสินใจมาเรียนที่นี่ผ่านกิจกรรม Open house หากผู้ปกครองมองเห็นว่าโรงเรียนกับที่บ้านมีแนวทางที่สอดคล้องกัน จึงเข้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติมุมมองต่างๆ จากนั้นเมื่อเข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว โรงเรียนจะมีกิจกรรมห้องเรียนพ่อแม่ เพื่อให้มีเครื่องมือความรู้และความเข้าใจในการเลี้ยงดูลูกให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม
ดังนั้นคุณครูจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ปกครอง เช่น การประชุมผู้ปกครองรายบุคคลทุก 2 เดือนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก ร่วมหาแนวทางในการส่งเสริมเด็กให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และนำเสนอร่องรอยการเรียนรู้จากการบันทึกของพวกเขาทุกภาคเรียนให้ผู้ปกครองได้เข้าใจและเห็นการเติบโตของลูกหลาน เพราะโรงเรียนไม่มีการตัดเกรด
“ผู้ปกครองและครูต้องทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรที่ดีของเด็ก เพื่อให้เด็กได้มีต้นแบบที่ดีในการเรียนรู้โลกใบนี้ ในส่วนของครูจะจัดกิจกรรมเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมเป็นประจำด้วย”
นอกจากนี้โรงเรียนจะมีกิจกรรมเสริมต่างๆ เช่น พ่อแม่พาธรรม คอร์สการเจริญสติภาวนาเพื่อการเรียนรู้กายใจ และให้พ่อแม่และเด็กร่วมกันตักบาตรทุกวันพระใหญ่ หรือกิจกรรมพิเศษอื่นๆ เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์หลากหลาย และนำการเรียนรู้มาทำให้เป็นรูปธรรม เช่น การจัด “ตลาดใส่ใจ” เป็นประจำที่โรงเรียนมีผู้ปกครองมาร่วมงาน เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กได้มีโอกาสต่อยอดการเรียนรู้จากในชั้นเรียน สู่การเป็นผู้สร้าง ผู้ผลิต และผู้ให้ สร้างผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย มีกิจกรรมเปิดหมวกนำรายได้ไปแบ่งปัน เช่น มอบให้กับคุณลุงหยี ซึ่งช่วยเหลือหมาแมวจรจัดนับร้อยตัวในชุมชนใกล้โรงเรียน หรือมอบให้ผู้พิทักษ์ป่า รวมถึงการให้เด็กจัดคอนเสิร์ตเอง เป็นต้น
ครูตุ้ย บอกว่า เด็กจากโรงเรียนเติบโตไปในหลากหลายสาขา ทั้งหมอ ทหาร นักกีฬา นักดนตรี ช่างภาพ สำคัญที่สุดคืออยู่ที่ไหนใครก็รัก เป็นได้ทั้งผู้นำ และผู้ตาม อ่านสถานการณ์ออก มีความสุขได้ด้วยตัวเอง เพราะเมื่อเขามีดวงจิตที่ดีเป็นพื้นฐานจะสามารถแยกแยะสิ่งใดดีไม่ดี ไม่ไหลไปตามกระแส แม้จะไม่ได้เน้นนั่งเรียนเขียนอ่าน แต่เขาก็จะเป็นม้าตีนปลายเสมอ เพราะเขาสดใส มีความเป็นตัวของตัวเอง และมีสายตาที่กระตือรือร้นในการเรียนรู้
ห้องเรียนทักษะชีวิตของโรงเรียนเพื่อปลูกฝังเด็กดีเป็นเพียงส่วนเดียว ทำอย่างไรถึงจะขยายผลให้ทุกภาคส่วนช่วยกันผลิตคนดีสู่สังคม ครูตุ้ย มองไปที่พ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พ่อแม่หลายคนมีแนวโน้มพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับลูกและโรงเรียน พ่อของเด็กๆ บางคนไปบวชก็มี หรือรักธรรมชาติมากขึ้นเป็นสายแคมปิ้งไปเลย หรือตอนเราให้เด็กจัดกิจกรรมวิ่งเอง ครอบครัวก็หันมาเป็นสายวิ่งเพื่อสุขภาพ เป็นต้น เพราะพ่อแม่เห็นลูกเปลี่ยน พ่อแม่ก็เปลี่ยนด้วย
การได้ฟังมุมมองผู้ปกครองของเด็กๆ จะช่วยเติมเต็มเรื่องราวทั้งหมดได้อย่างดี เราได้พบกับ “แม่หวาน” สาธิตา นิโรจศิล แม่ของน้องฌาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และน้องเฌน ชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ เธอ เล่าว่า ก่อนจะตัดสินใจมาเรียนที่นี่ ครอบครัวของเธอสอบถามจากเพื่อนก่อนว่าโรงเรียนมีการเรียนการสอนอย่างไร กอปรกับอยากให้ลูกเป็นเด็กที่มีความสุขง่าย-ทุกข์ยาก ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี อยู่ได้หลายๆ แบบอยู่แล้วสอดคล้องกับแนวทางของโรงเรียน ตอนแรกน้องฌานมาเรียนก่อน โรงเรียนก็ให้เขาได้ทำกิจกรรมที่มีความยากลำบากบ้าง ทำให้เขาได้ฝึกการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง และอยู่กับธรรมชาติ
เธอ ยกตัวอย่างการเรียนรู้ของลูกจากการไปเดินป่าที่เขาใหญ่ว่า ครูไม่ได้บังคับว่าทุกคนต้องไป เปิดให้เด็กตัดสินใจเอง ที่สุดเราก็ปล่อยน้องฌาน ซึ่งตอนนั้นอยู่อนุบาล 3 ไปกับครู 4 วัน 3 คืนโดยที่ไม่มีเราไปด้วย ความมั่นใจมาจากเห็นโรงเรียนสื่อสารกับเด็กมาเป็นเดือนว่าไปแล้วจะเจอกับอะไรบ้าง ต้องไปนอนแบบไหน ห้องน้ำเป็นแบบไหน เราบอกข้อมูลเขาไปด้วยว่าลูกต้องเผชิญหน้ากับอะไร ต้องเข้าห้องน้ำคนเดียว เขาก็ยินดี จนเรามั่นใจว่า “ใจเขาไป” เขามีความชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า “พร้อม” เขายกมือตัดสินใจไปคนแรกเลย” คุณแม่หวานเล่าไปยิ้มไป
คุณแม่หวาน แลกเปลี่ยนว่า เด็กๆ จะมีวิธีตัดสินใจของเขา ครู เล่าว่า เด็กบางคนไม่อยากไปเพราะกลัวห่างพ่อแม่ กลัวแม่เหงา หรือกลัวเหนื่อย แต่สุดท้ายเด็กตัดสินใจไป เขาข้ามกำแพงในใจไปได้ ต้องถือว่าการไปเขาใหญ่ของเด็กอนุบาล 3 เป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ บางคนร้องไห้คิดถึงพ่อแม่แต่ก็ไปต่อ ไปจริงๆ เขาก็ทั้งลุยฝนลุยโคลน ทั้งที่ไม่ง่ายเลย เขาต้องเดินเข้าป่าหลายชั่วโมงกับร่างกายเล็กๆ แต่เมื่อผ่านมาได้ เขาจะได้การเติบโตในใจ สามารถเผชิญความลำบากได้ มีใจสู้ มีความภูมิใจในตัวเองว่าทำได้ ถือว่าเปลี่ยนชีวิตเด็กๆ เหมือนกัน
“การฝึกทักษะชีวิตตลอดหลายปีที่ผ่านมาจากการเรียนรู้ในโรงเรียน และครอบครัวช่วยเสริมด้วย แม้เราจะทำงานหนักทั้งพ่อแม่ แต่เสาร์-อาทิตย์จะเป็นวันของลูกๆ ซึ่งเราจะไม่ได้พาเขาไปติววิชาการ แต่เน้นการพัฒนาทางกาย พาเขาไปเปิดหูเปิดตา ทำกิจกรรมเสริม เช่น ไปพิพิธภัณฑ์ แล้วก็ช่วยติวภาษาให้ลูกเพิ่มเติม ดังนั้นเด็กๆ จะได้บรรยากาศเดียวกันทั้งที่บ้านและโรงเรียน”
ตอนนี้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้อนาคตเขาก็จะเรียนรู้เป็น เพราะความรู้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากเราบอกเขาก็จบตรงความรู้ที่เรามี เทียบกับการที่เด็กมีวิธีหาความรู้ เขาจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ ที่สำคัญต้องเรียนรู้อย่างมีความสุขด้วย ถ้าเรียนแล้วไม่มีความสุข เด็กก็ไม่อยากเรียน ทักษะที่เราเห็นได้ชัด คือ เขามีวิธีคุยกับคนอื่น มีวิธีคิดหลายแบบ อยู่บ้านเขาก็มีส่วนร่วมเสนอไอเดียแก้ปัญหาที่ใช้ได้เลยทีเดียว เพราะเขาถูกฝึกให้ทำงานกลุ่มตั้งแต่อนุบาล 3
ทางด้านวิชาการคุณแม่หวาน ย้ำว่าไม่กลัวว่าลูกจะไม่ได้ เพราะมีประสบการณ์จากเพื่อนที่มีลูกเรียนโรงเรียน ก็เห็นว่าพอโตขึ้นก็สามารถไปข้างนอกได้ ไม่ได้ปรับตัวยากหรือเรียนรู้ช้า สิ่งที่เขาฝึกมาจะทำให้เขาตามทัน อย่างน้องฌานที่จะต้องไปเรียนต่อที่อื่นในช่วงมัธยม ก็จะมองโรงเรียนที่มีแนวใกล้เคียงกัน หรือหากต้องไปอยู่ในสายวิชาการจริงๆ ก็ไม่กังวลว่าเขาจะไปไม่ได้
เทียบกับการเรียนรู้ในยุคของตนเอง เธอ บอกว่า เมื่อโตมาก็มักจะมีคำถามเสมอว่าที่เรียนไปนั้นใช้อะไรได้บ้างในชีวิตประจำวัน เพราะเราเรียนไปตามแบบแผน แม้ว่าพ่อแม่จะไม่ได้คาดหวัง แต่ทุกอย่างพาไปให้เราคิดว่าต้องสอบได้เกรดดีถึงจะประสบความสำเร็จ แต่พออยู่ในสังคมเราจะพบว่ามีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากมาย ไม่ต้องหมอ วิศวกร แต่ละคนไม่จำเป็นต้องเก่งในแนวทางเดียวกัน “ลูกของเราเพียงขอให้เขาดูแลตัวเองได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เบียดเบียนคนอื่น เรียนรู้ได้ สุขง่ายตามสภาวะ แค่นี้เขาก็อยู่ได้แล้ว”
คุณแม่หวานแลกเปลี่ยนวิธีการดูแลลูกว่า เธอเองก็ต้องบอกตัวเองเสมอว่า ให้ฟังความคิดเห็นของลูก โดยจะพยายามคุยกับเขาตลอด เช่น ให้เขาเรียนว่ายน้ำ ก็จะไม่ใช้วิธีบังคับโดยไม่มีเหตุผล แต่จะบอกเขาว่าเรียนเพื่ออะไร เรียนเพื่อไม่ให้จมน้ำ ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ เรียนแล้วไปทำกิจกรรมกับเพื่อนสนุกๆ ได้ เพราะถ้าว่ายน้ำไม่เป็นเขาจะลำบาก เพื่อให้เขาทบทวน และสุดท้ายเขาจะรู้ว่าเขาควรทำ
“เราต้องรับฟังเสียงของลูก ปัญหาที่เจอกัน คือ ไม่รู้ว่าลูกคิดยังไง ไม่รู้ว่าไปกดดันลูกหรือไม่ ลูกถูกบังคับหรือไม่ ถ้าฟังกัน และคุยกันกับลูก ก็จะรู้ทิศทางที่เขาอยากไป และมาแมทกับที่เราอยากให้เขาไป ช่วยลดความไม่เข้าใจ หรือปัญหาจิตใจของเด็กได้ การคุยกับลูกบ่อยๆ อย่างน้อยให้เราได้รู้ว่าเขาคิดยังไง สร้างความเข้าใจกันมากกว่าถูกใส่ความคิดอย่างเดียว แล้วเราก็จะเติมแต่งลูกได้ทันการณ์”
………………………………
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “จากใจเพื่อนถึงเพื่อน” (friend for friend) ได้รับการสนับสนุนจาก โครงการพัฒนาผู้นำขับเคลื่อนด้านสุขภาพจิตจากภาคการสื่อสารและภาคการบันเทิงเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศสุขภาพจิตแบบยั่งยืน โดยกรมสุขภาพจิต และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)