back to top

ไขมันในเลือดสูง ก่อความเสี่ยงสารพัดโรค

ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ตีบตัน ข้อมูลจากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ไขมันในเลือดไม่สัมพันธ์กับไขมันใต้ชั้นผิวหนัง ดังนั้นในคนผอมจึงมีโอกาสเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้ 

สาเหตุของไขมันในเลือดสูง ประกอบด้วย กรรมพันธุ์, อายุที่เพิ่มขึ้น, เพศชายเสี่ยงมากกว่า, สิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนไป เช่น อาหารที่มีทั้งของทอด ของมัน เนื้อสัตว์แปรรูป หรือเบเกอรี่ ออกกำลังกายน้อยลง  และโรคประจำตัวที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น เช่น กลุ่มโรคไต ชนิดเนฟโฟรติก (nephrotic syndrome) ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคที่ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานที่คุมไม่ได้ เป็นต้น และสาเหตุจากยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาต้านการอักเสบ กลุ่มสเตียรอยด์ จะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอลสูงขึ้น 

ไขมันชนิดไม่ดี (LDL) มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นคอเลสเตอรอล ดังนั้น หากมีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูง จะมีโอกาสแทรกซึมไปเกาะผนังหลอดเลือดเรียกว่า ก้อนไขมันในผนังหลอดเลือด (Plaque) ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง เหมือนท่อน้ำที่มีตะกอนเกาะบริเวณผนัง เป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันในที่สุด ยิ่งเป็นไขมัน LDL ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งพบในผู้ที่เป็นเบาหวาน ไขมัน LDL จะสามารถแทรกซึมเข้าไปในผนังของหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันก็จะสูงมากขึ้น 

นอกจากนี้ หากมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น มีความดันโลหิตสูง จะทำให้เกิดแรงดันจนตะกอนหรือก้อนไขมันในผนังหลอดเลือดแตก และกลายเป็นลิ่มเลือดอุดตันเฉียบพลัน หากเกิดที่หลอดเลือดหัวใจ จะมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หัวใจวายเฉียบพลัน บางรายอาจเสียชีวิตทันที และหากเกิดบริเวณหลอดเลือดสมอง จะเกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง เป็นต้น

สำหรับการดูแลตนเองนั้น แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษา และประเมินว่ามีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันหรือไม่ โดยตรวจหาปัจจัยในเรื่องไขมัน และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ หากมีโอกาสเส้นเลือดตีบตันสูง แพทย์จะให้คำแนะนำเพื่อปรับวิถีชีวิต และใช้ยาลดระดับไขมันในเลือด

ถ้าปัจจัยการเกิดหลอดเลือดตีบตันไม่สูงมาก แพทย์จะให้เริ่มปรับพฤติกรรมก่อน เช่น การเลือกกินอาหารที่ไม่มีไขมันสูง จำกัดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเลจำพวกหอยและปลาหมึก ขนมเบเกอรี่ที่มีส่วนประกอบของเนย ไข่ แป้ง และน้ำตาลสูง เป็นต้น ออกกำลังกายเพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ และช่วยเพิ่มระดับ HDL โดยแนะนำให้ควรออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง แบบแอโรบิก อย่างน้อย 20-30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินควรลดน้ำหนักให้ได้ประมาณ 8-10% (ภายใน 6 เดือน) ของน้ำหนักตั้งต้น เช่น น้ำหนัก 100 กิโลกรัม จะต้องลดลง 8-10 กิโลกรัม จึงจะเริ่มเห็นผลดีของเรื่องระดับไขมันในเลือด นอกจากนี้ก็มียาลดระดับไขมันที่จะช่วยควบคุมได้ โดยต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ปัจจุบันมียาหลายชนิดไม่ส่งผลทำลายตับไต 

สำหรับตัวช่วยดูแลภาวะไขมันในเลือดสูง สมุนไพรก็ช่วยได้เช่นกัน โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำ 3 สมุนไพรไทย ที่ช่วยยับยั้งการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ 

1. กระเทียม เนื่องจากในกระเทียมมีเอนไซม์อัลลิเนส (allinase) โดยการนำกระเทียมไปบด หั่น หรือการสับ ก่อนเพื่อกระตุ้นให้เอนไซม์ในกระเทียมผลิตสารที่มีสรรพคุณออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ 

2. ดอกคำฝอย ช่วยลดไขมันในเลือด ช่วยบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงน้ำเหลือง และ บำรุงประสาท 

3. กระเจี๊ยบแดง ช่วยขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา และมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด อย่างไรก็ตามกระเจี๊ยบแดง มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง

ขณะเดียวกันให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิ อาหารทอด และอาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็ม เมนูที่แนะนำ เช่น เห็ดรวมตุ๋นกระเทียมพริกไทย ปลานึ่งมะนาว ต้มจืดใบกะเพรา ที่สำคัญ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกายของตนเอง

นอกจากการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายแล้ว ควรควบคุมอารมณ์ให้แจ่มใสไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และ ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี

หากผู้อ่านสนใจสมุนไพรไทยช่วยป้องกันโรคอะไรได้บ้างแนะนำให้หาความรู้ที่งาน “วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ” ระหว่างวันที่ 25–29 ตุลาคม 2567 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) และภาคีเครือข่ายงานด้านการแพทย์แผนไทยจัดขึ้นในโอกาส “วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี