ข่าวต่อเนื่องเกี่ยวกับการถูกหลอก ทั้งทางการหลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ ผ่านธุรกิจขายตรง แชร์ลูกโซ่ การลงทุน สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) อัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ (Forex) ทองคำ เพชร หุ้น กองทุน อสังหาริมทรัพย์ หรือ สินค้าอุปโภค เช่น ฟาร์มเห็ด ผักผลไม้ที่เป็นคดีมาแล้ว ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือ แม้แต่การลงทุนเล่นการพนันออนไลน์ ที่คนถูกหลอกก็รู้แต่เต็มใจให้หลอก หรือการหลอกให้โอนเงินของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ยังมีไม่หมดไป แม้ชาวบ้านจะรู้ว่าแก๊งนี้ยังคงทำงานอย่างขะมักเขม้น แต่ก็อาจไม่ทันกับกลโกงที่เปลี่ยนรูปแบบตลอดเวลาให้แนบเนียนมากขึ้น
สาเหตุที่ถูกหลอก คนหลอกเจตนาชัดเจนที่จะเอาเงินออกจากกระเป๋าเราด้วยวิธีการต่างๆ จำนวนมากถูกหลอกจากคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หรือได้ยินแต่เสียงผ่านโทรศัพท์ก็มี สิ่งที่จะดึงเงินออกจากกระเป๋าของแต่ละคนได้ง่ายๆ คือ การหลอกว่าจะได้รับผลตอบแทนคืนมามากกว่าที่ลงทุนไป ซึ่งจริงๆ แล้วคนหลอกไม่มีเจตนาที่จะให้ผลตอบแทนเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น แต่ต้องการเอาเงินจากเราไปฟรีๆ
หรือการหลอกโดยเล่นกับอารมณ์ความสงสารก็มีของแก๊งคอลเซนเตอร์ อย่างการปลอมเสียงเป็นลูกหลานญาติสนิทที่กำลังเดือดร้อน การหลอกรูปแบบต่างๆ นอกจากทำให้เสียทรัพย์สินแล้ว มากกว่านั้น คือ ความรู้สึกเจ็บช้ำใจ และความเครียด ท้อแท้ สิ้นหวัง นำมาสู่การทำร้ายตนเองได้
ปัจจุบันมีการแชร์ข้อมูลเตือนภัยรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพ แต่ก็ยังมีข่าวต่อเนื่องเรื่องการถูกโกง เพราะอะไรเราถึงเชื่อ เพราะอะไรมิจฉาชีพถึงบรรลุเป้าหมายได้จากการติดต่อเราเพียงแค่เสี้ยววินาที มาทำความเข้าใจกระบวนการทางจิตวิทยา เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวง
ข้อมูลจาก ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า งานวิจัยทางจิตวิทยาที่วิเคราะห์การหลอกลวงทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมากกว่า 580ประเภท ชี้ว่ามิจฉาชีพมักใช้เทคนิคจิตวิทยาการโน้มน้าว 2 ประเภทหลัก ประกอบด้วย
1. การอ้างอำนาจ (authority) และการกดดัน โดยการจำกัดเวลา หรือจำนวนรางวัลตอบแทน (scarcity) มิจฉาชีพอาจสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจโดยการแสดงให้เห็นว่าข้อเสนอที่นำมาล่อลวงนั้น มีความถูกต้องตามกฎหมายและมีหน่วยงานหรือบริษัทที่น่าเชื่อถือรองรับ หรือการอ้างอิงว่า เป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้เหยื่อรู้สึกเชื่อใจและไว้ใจ อีกทั้ง ผู้หลอกลวงมักใช้การโน้มน้าวทางอารมณ์มากกว่าการโน้มน้าวด้วยเหตุผล เช่น จงใจจำกัดระยะเวลาในการส่งข้อมูลหรือโอนเงิน จำกัดจำนวนสินค้าที่จำหน่าย หรือจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมการลงทุน ซึ่งทำให้เหยื่อรู้สึกว่าต้องรีบส่งข้อมูลหรือโอนเงินเพื่อจะได้รับผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจ และหลงเชื่อว่าตนจะได้รับผลตอบแทนตามที่ผู้หลอกลวงสัญญาไว้
คนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นกลุ่มเป้าหมายของการหลอกลวงฉ้อโกง แต่เพศหญิงมักตกเป็นเหยื่อเป้าหมายของการหลอกล่อให้รัก เพื่อหลอกลวงโกงทรัพย์สิน ส่วนผู้สูงวัยมักเป็นเหยื่อของการโกงทรัพย์หรือหลอกล่อเอาข้อมูลส่วนตัวออนไลน์ ขณะที่ผู้ที่มีการศึกษาและมีรายได้ค่อนข้างสูงมักเป็นเหยื่อของการล่อลวงให้ลงทุน
อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยทางจิตวิทยาชี้ว่ามี 3 ลักษณะนิสัยที่เพิ่มความเสี่ยงการถูกโกงทรัพย์สินโดยมิจฉาชีพ ดังนี้ 1. นิสัยและพฤติกรรมเสี่ยง (risk-taking) บุคคลที่มีนิสัยกล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ และรับความเสี่ยงนั้นมีแนวโน้มตอบรับข้อเสนอของผู้หลอกลวงมากถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับบุคคลที่ไม่ชอบความเสี่ยง ลักษณะชอบความเสี่ยง จึงเป็นตัวชี้วัดว่าบุคคลนั้นมีแนวโน้มจะทำตามข้อเสนอผู้หลอกลวง และเชื่อใจผู้หลอกลวง เพราะไม่ได้ใส่ใจกับการประเมินระดับความสุ่มเสี่ยงของข้อเสนอ แต่มุ่งความสนใจไปที่รางวัลผลตอบแทนที่อาจได้รับจากการลองเสี่ยง
2. ความสามารถในการควบคุมตนเอง (self-control) บุคคลที่ชอบตัดสินใจเสี่ยงมักมีความสามารถในการกำกับตนเองต่ำ สอดคล้องกับงานวิจัยที่ชี้ว่าคนที่เคยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ มักมีทักษะในการควบคุมตนเองค่อนข้างต่ำ เช่น มีนิสัยชอบซื้อของโดยไม่ยั้งคิด บุคคลที่มีความบกพร่องในการควบคุมตนเอง จึงไม่สามารถยับยั้งการตัดสินใจลงทุนหรือโอนเงินแบบหุนหันพลันแล่น โดยเฉพาะกรณีที่ผู้หลอกลวงใช้กลยุทธ์การจำกัดเวลาหรือจำกัดจำนวนรางวัลตอบแทนเพื่อโน้มน้าวและชักใยทางอารมณ์
3. ความสามารถในการจัดการอารมณ์ (emotional competence) ความฉลาดทางอารมณ์ คือความสามารถในการรับรู้และการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจทางการธุรกิจการเงินที่มีความเสี่ยงสูง บุคคลที่มีทักษะจัดการและควบคุมอารมณ์ตนเองต่ำจะมีความสามารถในการไตร่ตรองข้อมูลลดลง และอาจตัดสินใจทางการเงินโดยใช้อารมณ์ชั่วขณะ เช่น กลัวพลาดโอกาสทองในการทำกำไร หรือรู้สึกคล้อยตามแนวคิดโน้มน้าวของผู้หลอกลวง จึงมีแนวโน้มตอบรับข้อเสนอการล่อลวงทรัพย์สินมากกว่าบุคคลที่กำกับอารมณ์ตนเองได้ดี
ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้บุคคลตกเป็นเหยื่อการโกงได้ง่ายขึ้น เช่น การมีความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศไม่มากพอ และการไว้ใจและเชื่อคนง่าย
เมื่อรู้ทันปัจจัยเสี่ยงแล้ว เราลองสำรวจตนเองกันดู เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงฉ้อโกง แม้นิสัยและพฤติกรรมส่วนตัวอาจเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ ถึงแม้ว่าข้อเสนออาจจะดูน่าเชื่อถือ ก็ต้องผ่านการไตร่ตรอง ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายๆ แหล่ง และปรึกษาคนรอบตัวที่ไว้ใจก่อนที่จะตัดสินใจโอนเงิน หรือลงทุน หมั่นเตือนตัวเองเสมอว่าโอกาสการได้รับผลตอบแทนสูงมักมาพร้อมกับความเสี่ยง
การลงทุนทำได้ แต่ก็ต้องมีสติในการควบคุมอารมณ์ชั่วขณะ และมีสติในการควบคุมพฤติกรรมตนเองในการตัดสินใจเรื่องสำคัญทางธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะการลงทุนกับบุคคลที่ไม่ได้รู้จักมาก่อน หรือเพียงสื่อสารด้วยผ่านโทรศัพท์หรือออนไลน์
ในกรณีไม่ได้ถูกใครหลอก เต็มใจกระโดดเข้าไปลงทุนด้วยตัวเองไปลงทุนแบบถูกกฎหมายไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือกองทุนต่างๆ แล้วหลอกตัวเอง วาดฝันเกินจริงว่าจะได้ผลตอบแทนมากกว่าที่ลงทุนทุกครั้งไป แบบนี้ก็ต้องมีสติ เช่นกัน “การทิ้งถ่วงเวลา” ไม่ตัดสินใจทันทีช่วยได้! แล้วกลับมานั่งตรึกตรอง ศึกษาข้อมูล ปรึกษาหารือ เราจะตัดปัจจัยเสี่ยงที่เขาดักทางไว้ได้อย่างสำคัญจากความหุนหันพลันแล่นในการตัดสินใจ คิดเสมอว่าเรากำลังโอนเงินไปเข้ากระเป๋าใครคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้กำหนดเกม ที่มีเป้าหมายกวาดเงินจาก “หมาก” จากคนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาในกระดานแล้วเดินตามเกมที่เขากำหนด
สาเหตุที่ถูกหลอก เรารู้ไม่เท่าทันเขา หรือรู้ไม่เท่าทันตนเอง…เอาให้ดี เอาใจช่วยผู้อ่านของเราให้รอดไม่เป็นเหยื่อในเกมของใคร