ทุกคนบนโลกนี้จะต้องเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในโลกที่จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยคาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 4-5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้นในระดับ “โลกเดือด” แต่หากประเทศต่างๆ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามความตกลงปารีสที่ได้ประกาศไว้ อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 2.7-3.1 องศาเซลเซียส ในปีพ.ศ. 2643
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้นำเสนอ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” ในงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2567 ซึ่งครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งทีดีอาร์ไอเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา
ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ นำเสนอในหัวข้อ “สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ” ว่า การตั้งถิ่นฐานของประชากรโลกในพื้นที่เมือง ทำให้เมืองเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของประชากรโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจมากกว่าพื้นที่ใดๆ ในโลก ข้อมูลจาก World Bank (พ.ศ.2566) ระบุว่า ปัจจุบันประชากรราว 4.4 พันล้านคน คิดเป็น 56% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเมือง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในปี พ.ศ. 2593 และกว่า 80%ของ GDP มาจากเขตเมือง แสดงให้เห็นว่าเมืองเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้หลายเมืองทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และจำเป็นต้องหาแนวทางในการตั้งรับปรับตัว
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (2566) ได้อ้างอิงข้อมูลจาก International Labor Organization (ILO) พบว่าปัจจุบันสัดส่วนคนไทยมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเมือง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับทั่วโลก ซึ่งก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ภัยจากความร้อน น้ำท่วม และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง บางเมืองสามารถเจอภัยได้หลากหลายรูปแบบ เช่น กรุงเทพได้รับผลกระทบทั้ง 3 ภัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ถึง 2559 โดยเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban heat island) ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.26 องศาเซลเซียส สอดคล้องกับการขยายตัวของความเป็นเมือง
อีกทั้งประสบปัญหาน้ำท่วมขังกว่า 737 จุด และตลอด 40 ปีที่ผ่านมา พื้นที่กรุงเทพฯ ในเขตบางขุนเทียนถูกน้ำทะเลกัดเซาะไปกว่า 2,735 ไร่ ขณะที่ เชียงใหม่ เมืองหลักในภาคเหนือต้องเผชิญกับภัยร้อน จากการเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนในพื้นที่เมือง ทำให้ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2564 อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.01 องศาเซลเซียส และเผชิญกับภัยน้ำท่วมในปี 2567 คิดเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังประมาณ 3,504 ไร่ (จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม โดย GISTDA)
ภัยจากความร้อน
ปัจจุบันเมืองในประเทศไทยหลายเมืองกำลังเผชิญปรากฏการณ์เกาะความร้อน หรือโดมความร้อน ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิในพื้นที่เมืองสูงกว่าพื้นที่รอบนอกเมือง โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบเมือง การใช้วัสดุที่สะสมความร้อน และกิจกรรมของมนุษย์ทั้งความร้อนจากอาคารและยานยนต์ นอกจากกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ยังพบการเกิดเกาะความร้อนของจังหวัดในภาคตะวันออก
ในปี 2549 ถึง 2560 เกิดการขยายตัวของเกาะความร้อนอย่างมากในภาคตะวันออก และมีแนวโน้มกระจายตัวมากขึ้น เนื่องจากภาคตะวันออกมีการพัฒนาของอุตสาหกรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินจากพื้นที่ว่างเปล่า และพื้นที่เกษตรกรรมให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัย มีอาคารสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานกระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาค โดยผลการศึกษาพบว่าพื้นที่เมือง และสิ่งปลูกสร้างมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิพื้นผิว ซึ่งตลอด 11 ปี การขยายตัวของเมืองส่งผลให้อุณหภูมิของเมืองในภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 2.56 องศาเซลเซียส
การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบว่าระหว่างปี 2561 และ 2567 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนในประเทศไทยเพิ่มจาก 18 คน เป็น 62 คน โดยกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ คนทำงานกลางแจ้ง ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัดเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แม้ว่าปัจจุบัน เมืองในประเทศไทยมีมาตรการบรรเทาปัญหาความร้อนด้วยการเก็บข้อมูลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบและกำหนดมาตรการช่วยเหลือ เช่น การเก็บข้อมูลกลุ่มเปราะบางในชุมชนจัดตั้งของกรุงเทพ เพื่อนำมาจัดทำแผนที่กลุ่มเปราะบาง (Vulnerability Map) สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และกำหนดมาตรการช่วยเหลือ ทั้งการเฝ้าระวังผู้ป่วยจากความร้อน และการประชาสัมพันธ์การรับมือกับความร้อน แต่ยังไม่สามารถลดความร้อนในเมืองได้ เนื่องจากยังไม่มีแผนการลงทุนตั้งรับปรับตัวกับความร้อนในระยะยาว ที่คำนึงถึงการพัฒนาเมืองที่ช่วยลดความร้อนในเมือง เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการปรับปรุงอาคารตามเกณฑ์อาคารเขียว เป็นต้น
ภัยจากน้ำท่วม
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น และเกิดปรากฏการณ์ฝนตกแช่ หรือฝนตกหนักกะทันหัน (Cloudburst) ได้บ่อยครั้งขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังชั่วคราว และกระทบกับการเดินทางของคนเมือง สำหรับกรุงเทพฝนที่ตกในช่วงเวลาเร่งด่วน (16.00 – 18.00 น.) สร้างความล่าช้าจากการเดินทางได้กว่า 2 พันชั่วโมงต่อวัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากค่าเสียโอกาสที่เกิดจากปัญหาการจราจรติดขัด นอกจากนี้ ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นยังทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน อาคารสิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ
การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของเมืองในประเทศไทยยังเน้นการลงทุนในสิ่งก่อสร้างเป็นหลัก เช่น เขื่อนคันกั้นน้ำ และระบบระบายน้ำ แต่ยังขาดการส่งเสริมมาตรการเชิงระบบนิเวศ การจัดการผังเมือง รวมถึงแผนและการลงทุนตั้งรับปรับตัว จึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวได้ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การตั้งรับปรับตัวกับน้ำท่วมของเทศบาลนครหาดใหญ่ โดยมีศูนย์วิจัยภัยพิบัติภาคใต้ ทำหน้าที่เป็น ‘โซ่ข้อกลาง’ เชื่อมข้อมูลระหว่างภาครัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และประชาชน
อีกทั้งมีการรวบรวมข้อมูลปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในคลอง ตลอดจนบริหารจัดการน้ำ เพื่อวิเคราะห์และแจ้งเตือนน้ำท่วมล่วงหน้า 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม มาตรการในภาพรวมยังเป็นการบรรเทาปัญหาด้วยการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า และยังไม่ยั่งยืนมากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านรูปแบบขององค์กร กล่าวคือ ศูนย์วิจัยฯ เป็นเพียงหน่วยงานภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ไม่มีฐานะขององค์กรอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ ระบบจัดการน้ำในพื้นที่ก็ยังใช้มาตรฐานจากภาครัฐส่วนกลาง ขาดการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ท้องถิ่น รวมถึงขาดงบประมาณในการลงทุนสำหรับการให้เมืองปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศในระยะยาว
ภัยจากน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง
ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่งทะเล 3,151.13 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัด โดยแบ่งเป็นชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย 2,039.78 กิโลเมตร และชายฝั่งอันดามัน 1,111.35 กิโลเมตร จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุที่รุนแรง เมื่อผนวกกับการกัดเซาะชายฝั่งจากกระแสคลื่นและลมตามธรรมชาติ ทำให้ประเทศไทยประสบกับภาวะน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดย 26% ของชายฝั่งมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและบางพื้นที่มีการกัดเซาะรุนแรง ส่งผลให้ตลอด 30 ปี ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งราว 100,000 ไร่ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ และเศรษฐกิจ ดังกรณีชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง
หน่วยงานภาครัฐส่วนกลางและภาครัฐส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยมีการรับมือและพยายามแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีการบูรณาการการทำงานผ่านคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด รวมถึงมาตรการสิ่งก่อสร้างเชิงวิศวกรรม เช่น เขื่อน กำแพงกันคลื่น แต่การเน้นเพียงโครงสร้างถาวรไม่สามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งเสียหายและเพิ่มการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ข้างเคียงเพิ่มขึ้น จึงเห็นได้ว่าการดำเนินโครงการโดยไม่พิจารณาทั้งระบบนิเวศชายฝั่ง ทำให้สิ่งก่อสร้างในบริเวณหนึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการกัดเซาะในพื้นที่ใกล้เคียง โดยพบตัวอย่างของชายฝั่งที่มีสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้นหลังมีโครงการก่อสร้าง เช่น บริเวณหาดแสงจันทร์ จังหวัดระยอง และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้การดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อตั้งรับปรับตัวกับภัยธรรมชาติต่างๆ ในไทยนั้น แม้จะผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงิน (Feasibility study) และการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA หรือ EHIA) แล้ว แต่ไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าจะได้โครงการที่คุ้มค่าและให้ประโยชน์สูงสุดได้ เนื่องจากกระบวนการศึกษาเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดด้านข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วนรอบด้าน ทำให้การประเมินไม่แม่นยำ อีกทั้งยังมีปัญหาด้านความเป็นอิสระของหน่วยงานผู้ประเมินโครงการ โดยผู้รับทำรายงานที่มักมีสถานะเป็นลูกจ้าง มีแนวโน้มจะจัดทำการประเมินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ว่าจ้าง กล่าวคือมีการประมาณการณ์ผลประโยชน์สูงเกินจริงและต้นทุนต่ำเกินจริง และพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่ำเกินจริง จากข้อมูลของ The 1O1 World (2566) พบว่า โครงการประเมิน EIA และ EHIA ในอดีตของประเทศไทยมีแนวโน้มผ่าน 100% ทั้งยังขาดกลไกตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขในรายงาน EIA/EHIA และพบว่าระดับของกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนยังไม่มากพออีกด้วย
จากกรณีศึกษาการตั้งรับปรับตัวของเมืองในต่างประเทศ พบว่ามีแนวคิดการผสมผสานโครงสร้างพื้นฐาน 4 มาตรการ ประกอบด้วย Grey infrastructure: โครงสร้างพื้นฐานที่เกิดจากระบบวิศวกรรมก่อสร้าง เช่น อาคารที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบอุโมงค์ส่งน้ำ กำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด Green infrastructure : โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นพื้นที่สีเขียวตลอดจนองค์ประกอบสีเขียวต่างๆ เช่น พื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้า สวนฝนและสวนเพื่อการดูดซับน้ำ ระบบนิเวศป่าชายเลน Blue Infrastructure: โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้องค์ประกอบทางน้ำ เช่น สระรับน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ เมืองฟองน้ำ (Sponge city) White Measurement: การกำหนดพื้นที่ถอยร่น ลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของทรัพย์สิน
จากการศึกษาภาพรวม ดร.สุเมธ องกิตติกุล ได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาของไทย ดังนี้
1. ประเมินและลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเทา สีเขียว และสีฟ้า ในระดับแผนงาน โดยเน้นการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านและเป็นภาพใหญ่มากกว่าระดับโครงการ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดำเนินการ
2. เปลี่ยนพื้นที่รกร้างในเมือง เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ชุ่มน้ำ ด้วยมาตรการจูงใจทางภาษี เช่นการปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับที่ดินที่มีการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวพื้นที่รับน้ำ (ไม่ตีความเป็นพื้นที่รกร้าง ซึ่งเสียภาษีในอัตราที่สูง)
3. ส่งเสริมการปรับปรุงอาคารเก่าในเมืองให้เข้าเกณฑ์อาคารเขียว โดยเริ่มต้นจากอาคารของภาครัฐ
4. จำกัดการพัฒนาใหม่ๆ และย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยมีกระบวนการมีส่วนร่วม และการชดเชยที่เป็นธรรม
โดยให้ผสมผสานมาตรการเหล่านี้ เพื่อสร้างเมืองที่ยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน ทั้งลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะยาว