ทั่วโลกต่างเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่แตกต่างกัน ซึ่งดูเหมือนเขตเมืองจะได้รับผลกระทบมากที่สุดด้วยจำนวนคนและการพัฒนา ขึ้นอยู่กับการหามาตรการใดมารับมืออย่างยืดหยุ่น โดยพบว่ามีหลายเมืองต่างนำมาตรการต่างๆ มาใช้อย่างผสมผสาน และน่าจะพอนำพาคนเมืองให้รอดได้ท่ามกลางภัยธรรมชาติที่ถาโถม
ในงานวิจัยของ ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ ได้ศึกษาการตั้งรับของแต่ละเมืองในต่างประเทศที่น่าสนใจ เพื่อให้ไทยนำประสบการณ์มาปรับใช้
เมืองในแอริโซนา บรรเทาภัยร้อนให้กลุ่มเปราะบาง
เมืองในรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา มักเผชิญกับภาวะอุณหภูมิสูง (เกิน 100°F หรือ 38°C) อย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยร้อนเฉลี่ยมากกว่า 200 รายต่อปี และในปี พ.ศ. 2565 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงกว่า 500 ราย ทั้งนี้ กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงคือเด็ก ผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และคนไร้บ้าน ที่เข้าไม่ถึงเครื่องปรับอากาศ เช่น ในเขตเมืองฟีนิกซ์ที่มีจำนวนคนไร้บ้านสูง พบผู้เสียชีวิตจากภาวะดังกล่าวที่เป็นคนไร้บ้านมากถึง 178 ราย
รัฐบาลท้องถิ่นในระดับรัฐและเมืองได้มีการแก้ปัญหาภัยร้อนด้วยการระดมทุนรับมือปัญหาภาวะอากาศร้อนรุนแรง (extreme heat) ที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยจัดตั้งศูนย์หลบร้อน (cooling center) ศูนย์พักพิงชั่วคราว (respite center) และกำหนดจุดบริการน้ำดื่ม (water station) ตามความเสี่ยงภัยความร้อนของพื้นที่ อีกทั้งการสร้างเครือข่าย Heat Relief Network (HRN) ที่มีภาควิชาการและประชาชนร่วมด้วย โดยมีการศึกษาเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงนโยบายพื้นที่หลบร้อน ให้กลุ่มเปราะบางใช้งานได้จริง รวมถึงการวิเคราะห์ติดตามข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ปรับมาตรการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงของกลุ่มเปราะบางพัฒนาระบบเตือนภัย ตลอดจนการพัฒนากลไกใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ลอนดอน ลดภัยร้อนด้วยอาคารเขียว
คลื่นความร้อน (heat wave) ที่แผ่ขยายไปทั่วยุโรป ส่งผลให้อุณหภูมิเมืองสูงขึ้นและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2023 มีการคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยความร้อนประมาณ 2,295 ราย โดยเฉพาะในเดือนกันยายน สหราชอาณาจักรได้เผชิญคลื่นความร้อนถึง 11 วัน มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 934 ราย เฉลี่ย 85 รายต่อวัน ซึ่งนับเป็นช่วงที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในปี พ.ศ. 2566 พบในภาคกลางฝั่งตะวันตก (West Midlands) ภาคตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast) กรุงลอนดอน (London) และภาคตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest) และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีอัตราการเสียชีวิตสูง
จากปัญหาคลื่นความร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ลอนดอนมีการรับมือภัยจากความร้อนผ่านการใช้มาตรการสีเขียว (Green infrastructure) และส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการตั้งรับปรับตัว The Greater London Authority (GLA) ร่วมมือกับภาคเอกชน (Business Improvement Districts) ออกมาตรการสนับสนุนการปรับปรุงอาคารเป็นอาคารสีเขียว (Retrofit) โดยมีแนวทางในการปรับอาคารสีเขียว ตั้งแต่การใช้แผนที่ความเสี่ยง (Risk map) กำหนดพื้นที่ปรับอาคาร (เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล บ้านพักคนชรา) ประกอบกับสร้างความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐบาลท้องถิ่น เจ้าของอาคาร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อจัดทำโครงการนำร่องสำหรับพัฒนาความพร้อมของมาตรการ ตลอดจนสนับสนุน Green Audit ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญให้ภาคเอกชนร่วมพัฒนาอาคาร และโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวในเขตของตน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง
สิงคโปร์ วางกลยุทธ์ลดร้อน แก้ครบวงจร
หากพิจารณาจากลักษณะที่ตั้งและภูมิประเทศของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรเพียง 137 กิโลเมตร ส่งผลให้มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี รวมทั้งได้รับผลกระทบจากปัญหาปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการเพิ่มจำนวนป่าคอนกรีตบริเวณใจกลางเมืองทำให้อุณหภูมิในตัวเมืองสิงคโปร์สูงกว่านอกเมืองถึง 7 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 1.4–4.6 องศาเซลเซียสภายในปี พ.ศ. 2643
ในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลมีการรับมือภัยร้อนอย่างครบวงจร ตัวอย่างของมาตรการเช่น การใช้นวัตกรรมติดตั้งระบบเดินน้ำผ่านท่อเข้าอาคาร การปรับปรุงระบบปรับอากาศผ่านการปรับลดการใช้เครื่องปรับอากาศที่ปล่อยความร้อน การใช้ระบบทำความเย็นบนหลังคา การควบคุมการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล เช่น รถยนต์และรถจักรยานยนต์ การควบคุมความสูงของอาคาร โดยคำนึงถึงการถ่ายเทของลม ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่เปิดโล่งสีเขียว เช่น Marina Bay และ Garden by the Bay
หลายปีที่ผ่านมา ภัยจากน้ำท่วมกลายเป็นปัญหาสำคัญที่หลายเมืองทั่วโลกกำลังเผชิญ อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นและความรุนแรงของพายุที่มีความถี่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมได้บ่อยครั้ง และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โครงสร้างพื้นฐาน และเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หลายเมืองได้มีมาตรการจัดการน้ำภายในเมืองเพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความยืดหยุ่นให้เมืองในการตั้งรับปรับตัว โดยมีกรณีศึกษาของเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีแนวทางและมาตรการในการตั้งรับปรับตัวจากภัยน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โคเปนเฮเกน แก้น้ำท่วม ใช้แนวคิด Green และ Grey
โคเปนเฮเกนเป็นตัวอย่างของเมืองที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ฝนตกหนักและทวีความรุนแรง ส่งผลให้โคเปนเฮเกนเกิดน้ำท่วมในเมืองบ่อยครั้ง ในปี พ.ศ. 2554 โคเปนเฮเกนเกิดเหตุการณ์ Cloudburst หรือการเกิดฝนตกอย่างหนักในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งปริมาณน้ำฝนสูงถึง 150 มิลลิเมตร ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความเสียหายกว่า 1,000 ล้านยูโร เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายสูงสุดของยุโรปในปีนั้น
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โคเปนเฮเกนมีการตั้งรับปรับตัวกับภัยน้ำท่วม เกิดแผน Cloudburst Management Plan แผนรับมือภัยพิบัติที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ โดยมีแนวคิดผสมผสานระหว่างมาตรการสีเขียว (Green infrastructure) และมาตรการสีเทา (Grey infrastructure) โดยมาตรการปรับตัวภายใต้แนวคิด “การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง” เพื่อกระตุ้นความสนใจและสร้างการยอมรับของประชาชน มีการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อรองรับปริมาณน้ำในช่วงที่มีฝนตก สามารถระบายน้ำฝนได้อย่างรวดเร็ว และทำหน้าที่เป็นสวนสาธารณะในช่วงที่ไม่มีน้ำ ควบคู่กับการสร้างระบบอุโมงค์ยักษ์ใต้ดิน เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน และเพิ่มศักยภาพของระบบท่อระบายน้ำฝนที่แยกต่างหากจากท่อระบายน้ำทิ้ง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวคิดในการจัดสรรงบประมาณ โดยผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายระดับชาติ เพื่อให้สามารถใช้รายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้น้ำรวมกับการจัดหาเงินทุนของภาคเอกชน และรายได้จากภาษีสำหรับการลงทุนในระบบการจัดการน้ำ
จีนสร้างพื้นที่รับน้ำ ปรับตัวด้วย Green Blue และ Grey
การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วในประเทศจีน ทำให้พื้นที่ธรรมชาติถูกทดแทนด้วยอาคารสิ่งก่อสร้าง และถนน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ทำให้พายุมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เมืองใหญ่ในประเทศจีนประสบภัยน้ำท่วมบ่อยครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึง 2557 ประเทศจีนประสบภัยน้ำท่วมถึง 15 ครั้ง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จากข้อมูลทางสถิติ พบว่าภัยน้ำท่วมสร้างความเสียหายกว่า 1% ของ GDP และมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเทศจีนมีการรับมือภัยน้ำท่วมผ่านการใช้มาตรการเมืองฟองน้ำ (Sponge City) ในหลายเมือง โดยมาตรการเมืองฟองน้ำเป็นแนวคิดการผสมผสานระหว่างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานสีฟ้า (Blue Infrastructure) และมาตรการสีเทา (Grey infrastructure) โดยใช้พื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับน้ำฝนและช่วยในการกรองมลพิษในแหล่งน้ำ บ่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำฝนชั่วคราว และพื้นผิวถนนที่ออกแบบให้สามารถซึมน้ำได้ และช่วยลดการไหลบ่าของน้ำ ตัวอย่างเมืองที่ประสบความสำเร็จในการใช้แนวคิดนี้ คือเมืองฟองน้ำในพื้นที่เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 4,000 ล้านหยวน (509 ล้านยูโร) เมื่อเทียบกับมาตรการทั่วไปในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
โครงการ “เมืองฟองน้ำ” ของจีนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ธรรมชาติมาผสมผสานกับวิศวกรรมในการจัดการน้ำฝนและน้ำท่วมซึ่งไม่เพียงช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้วย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลได้กลายเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศชายฝั่ง แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ กรณีศึกษาประเทศเนเธอร์แลนด์ และกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเป็นตัวอย่างสำคัญของเมืองที่เผชิญกับปัญหาระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งมีการรับมือด้วยมาตรการเน้นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี นวัตกรรม ประกอบกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตลอดจนการถอยร่นย้ายสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนเธอร์แลนด์ แก้กัดเซาะชายฝั่ง ด้วยนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม
เนเธอร์แลนด์เผชิญกับปัญหาอุทกภัยบ่อยครั้ง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล อีกทั้งพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้เป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำ Rhine Meuse และ Scheldt ในปี พ.ศ. 2496 เนเธอร์แลนด์เผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ หรือ North Sea Flood ซึ่งเกิดจากการยกตัวสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลจากอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อน (Storm surge) ประกอบกับเป็นช่วงเวลาการเกิด Spring tide ตำแหน่งของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้เขื่อนพังทลายและมวลน้ำได้เข้าท่วมพื้นที่อย่างรวดเร็ว การเกิดอุทกภัยในครั้งนี้คร่าชีวิตประชาชนไปถึง 1,835 ราย บ้านเรือนได้รับความเสียหายกว่า 43,000 หลัง พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมประมาณ 1,355,005 ไร่ พื้นที่ประมาณ 9% ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 5% ของ GDP
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ประชาชนและรัฐบาลได้ถอดบทเรียนและให้ความสำคัญด้านระบบการจัดการน้ำด้วยการร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Delta Commission) และริเริ่มโครงการ Delta Works โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบจัดการน้ำของประเทศ ประกอบด้วย เขื่อน กำแพงกันคลื่น คันกั้นน้ำ และประตูระบายน้ำ รวมทั้งสิ้น 13 โครงการ อีกทั้งมีการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน ตัวอย่างเช่น การก่อสร้างประตูกั้นน้ำ Eastern Scheldt ได้หยุดชะงัก เนื่องจากการคัดค้านของประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากเดิมบริเวณปากแม่น้ำ Scheldt เป็นน้ำกร่อย และเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำ ซึ่งการสร้างเขื่อนจะทำให้น้ำในบริเวณกลายเป็นน้ำจืด จึงมีการปรับรูปแบบจากเขื่อนเป็นประตูกั้นน้ำแบบเปิดปิดเพื่อให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ จำนวน 62 ช่อง แต่ละช่องกว้าง 40 เมตร โดยประตูกั้นน้ำจะเปิดเพื่อรักษากระแสน้ำ แต่จะปิดเมื่อเกิดพายุหรือน้ำทะเลหนุนสูง และ Maeslant Barrier กำแพงป้องกันคลื่นและน้ำทะเลหนุนด้วยระบบเทคโนโลยี Super Computer จากการประกวดออกแบบของผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ แม้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 แต่รัฐบาลยังคงติดตามประสิทธิผลของโครงการ และพัฒนาการจัดการน้ำเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต
กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย กับมาตรการ Green และ White
กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเมืองที่ตั้งรับปรับตัวกับภัยจากการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการผสมผสาน โดยหากพิจารณาจากลักษณะที่ตั้งและภูมิประเทศของจาการ์ตาจะพบว่า เมืองหลวงแห่งนี้มีความเสี่ยงต่อน้ำทะเลกัดเซาะ การทรุดตัวของเมือง และปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องด้วยจาการ์ตาตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มชายฝั่งที่มีแม่น้ำกว่า 13 สายไหลผ่าน และกว่า 40 % ของเมืองอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล อย่างไรก็ตาม พื้นที่รับน้ำและแนวป่าชายเลนเดิมของเมืองกลับเสื่อมโทรม จากการบุกรุกตั้งที่อยู่อาศัยของประชาชน ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำ น้ำท่วม และการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงเป็นวงกว้างในพื้นที่ชายฝั่งทางตอนเหนือของเมือง
แม้การย้ายเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียจะเกิดขึ้นแล้ว แต่กรุงจาการ์ตายังคงมีแผนการตั้งรับปรับตัวกับภัยจากการกัดเซาะชายฝั่ง ผ่านแผน Jakarta Water Management Plan for 2030 ซึ่งเป็นการวางแผนการจัดการน้ำและการกัดเซาะของกรุงจาการ์ตาในทุกมิติ ตัวอย่างของโครงการเช่น Pluit Reservoir Revitalization Project ซึ่งเป็นการฟื้นฟูพื้นที่รับน้ำริมชายฝั่งตอนเหนือของกรุงจาการ์ตา ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ โดยมีการสื่อสารถึงความจำเป็นในการย้ายบ้านเรือนออกจากพื้นที่เสี่ยง และเริ่มย้ายที่อยู่อาศัยของประชาชนราว 15,000 หลังคาเรือนออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยประชาชนจะได้ไปอยู่ในที่พักถาวรที่รัฐบาลจัดไว้ให้ พร้อมมีความช่วยเหลือจากภาคเอกชนในการจัดหาสิ่งของจำเป็นให้ประชาชนที่ยากไร้
อีกหนึ่งโครงการคือการฟื้นฟูระบบป่าชายเลน Muara Angke Wildlife Refuge โดยมีการจัดการขยะ การไหลของน้ำ และปลูกพันธุ์พืชเพิ่มเติมในพื้นที่ ภาพรวมของโครงการทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตามีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งลดลง อีกทั้งลดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ปัญหามลภาวะทางน้ำ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกลุ่มเปราะบาง และเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศชายฝั่ง นับว่าเป็นมาตรการที่สร้างประโยชน์ร่วมได้อย่างยั่งยืน
จากการทบทวนกรณีศึกษาต่างประเทศในการตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ก่อให้เกิดภัยจากความร้อน น้ำท่วม และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง สามารถสรุปมาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละภัยได้ ภัยจากความร้อน แก้ไขด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จำกัดการใช้รถยนต์ ปรับปรุงระบบปรับอากาศและอาคารสีเขียว ส่วนภัยจากน้ำท่วม แก้ไขด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่ม เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ และสร้างเมืองฟองน้ำ ภัยจากน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง แก้ไขด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนและชายหาด ใช้มาตรการเชิงวิศวกรรมที่เน้นนวัตกรรม และการมีส่วนร่วม รวมถึงการถอยร่นและโยกย้ายสิ่งปลูกสร้าง
แนวทางเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการผสมผสานระหว่างโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการโดยการรับมือกับภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ควรพึ่งพาเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานเชิงวิศวกรรมก่อสร้าง หรือโครงสร้างพื้นฐานสีเทาเพียงเท่านั้น แต่ควรบูรณาการเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่เน้นการเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐานสีฟ้าที่มีระบบจัดการน้ำ และมาตรการสีขาวที่ให้ความสำคัญในการถอยร่นและโยกย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และใช้นวัตกรรมมาสนองตอบความต้องการที่หลากหลาย ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า มาตรการที่เหมาะสมคือ มาตรการที่สร้างประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ซึ่งหมายถึง สามารถสร้างผลลัพธ์ที่หลากหลายกับเมืองได้มากกว่าเพียงการแก้ปัญหาหนึ่งอย่าง
จากแนวคิดของกรณีศึกษาต่างประเทศที่กล่าวไปข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าแนวทางที่นำไปสู่การตั้งรับปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ มาจากความเข้าใจ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่
1. เข้าใจภัยธรรมชาติ คือการตระหนักถึงลักษณะภูมิประเทศและภัยพิบัติที่เมืองเผชิญ พร้อมทั้งศึกษาบทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เกาะความร้อน พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หรือการกัดเซาะชายฝั่ง ตลอดจนประเมินระดับความเสี่ยงที่ประชาชนและทรัพย์สินอาจได้รับผลกระทบเพื่อวางแผนป้องกันและรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. เข้าใจความเปราะบาง คือการระบุและจำแนกกลุ่มประชากรที่เปราะบางอย่างชัดเจน และประเมินความเสี่ยงที่กลุ่มเปราะบางต้องเผชิญ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และตอบสนองต่อความต้องการได้
3. เข้าใจความสามารถในการปรับตัวของเมือง คือการประเมินศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในการรับมือกับภัยพิบัติ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาครัฐส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาควิชาการ ไปจนถึงภาคประชาชน อีกทั้งยังต้องมีกลไกและนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองในระยะยาว และสนับสนุนให้ประชาชนสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อมีความเข้าใจทั้ง 3 ด้านแล้วจะสามารถนำไปสู่การวางแผน การประเมิน และการลงทุนเพื่อปรับให้เมืองสามารถอยู่รอด