back to top

รู้ทันความเครียด ลดการเบียดเบียนตัวเอง

ความเครียดก่อได้หลายโรค รวมไปถึงโรคซึมเศร้า ซึ่งความเครียดมาจากสาเหตุต่างๆ ทั้งปัจจัยด้านจิตสังคมและลักษณะนิสัยพื้นฐาน เช่น ความคาดหวังสูง การกดดันตนเอง มองตัวเองในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย พอมีปัญหาแล้วเก็บกดไม่ปรึกษาใคร หรือเอาชีวิตเราไปขึ้นกับบุคคลอื่น รวมถึงความเครียดจากโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังรุมเร้า และเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจ 

ความเครียดมาจากความคิดของตนเอง และจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง แบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
1. ความกดดันจากสิ่งแวดล้อมทั่วไป เช่น มลภาวะ เสียงดังเกินไป อากาศที่ร้อนจัด สถานที่ที่วุ่นวายสับสนอยู่ท่ามกลางความรุนแรง หรือสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย
2. มีสภาพเศรษฐกิจที่ไม่น่าพอใจ เช่น รายได้น้อยกว่ารายจ่าย กดดันหรือเครียดเรื่องเงิน ที่จำเป็นต้องใช้ด่วน ทำให้รู้สึกไม่มั่นคง
3. ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่ไม่ราบรื่น ขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง หรือถูกเอาเปรียบ
4. ความรู้สึกตนเองต่ำต้อย มองโลกอย่างเปรียบเทียบ ต้องพยายามพิสูจน์คุณค่า
5. ไม่มีทางเลือกที่ลงตัวในชีวิต เช่น ต้องรับผิดชอบเรื่องที่ไม่ได้อยากทำ ทำไปก็ไม่มีความสุข ไม่ทำก็ผิด
6. มีปัญหาสุขภาพรุมเร้า มีโรคเรื้อรัง สร้างความทรมานและจำกัดการใช้ชีวิต

ความเครียดมีผลต่อชีวิตเราอย่างแน่นอน สำหรับผลต่อสุขภาพทางกาย เกิดอาการไม่สบายทางกายต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเป็นปัจจัยกระตุ้นต่อโรคอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของหัวใจ ความดันโลหิตสูง แผลในกระเพาะ อาการท้องผูกท้องเสียบ่อยๆ การนอน หรือทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ส่วนผลต่อสุขภาพจิต นำไปสู่ความวิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงง่าย หรือโรคประสาทบางอย่าง นอกจากนี้ความเครียดส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการเรียน การทำงาน สัมพันธภาพต่อครอบครัว และบุคคลแวดล้อมอีกด้วย

เมื่อรู้แล้วว่าความเครียดมีผลมากมายแค่ไหน ก็ต้องค่อยๆ จัดการกับความเครียด โดยมีคำแนะนำ 7 ข้อดังนี้  

1. หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายจิตใจและพฤติกรรมที่เกิดจากความเครียด รู้ทันเวลาตัวเองเครียด
2. หาเวลาว่างให้กับตนเอง ลดการเบียดเบียนตัวเอง เปิดโอกาสให้มีเวลาเพื่อตัวเอง
3. ดูแลตนเอง ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีที่คุ้นเคย เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การฝึกการหายใจ การทำสมาธิ
4. จัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งที่บ้านและที่ทำงานที่พึงประสงค์ เพื่อลดสิ่งกระตุ้น
5. นึกถึงกิจกรรมที่ให้ความสุขและลงมือทำ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ท่องเที่ยว สังสรรค์กับเพื่อน
6. ปรึกษาผู้อื่นที่วางใจได้ ให้ระบายความทุกข์ในใจ มีคนร่วมรับรู้และได้รับความเห็นอกเห็นใจ
7. ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคม เช่น กิจกรรมจิตอาสา หรือลงเรียนสิ่งใหม่ๆ ต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่า

ทั้งนี้หากไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ให้ติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่คลินิกจิตเวช โรงพยาบาลตามสิทธิ