back to top

สู้มะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เทคโนโลยีจากฝีมือแพทย์ไทย โดย นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล

การพัฒนา “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล” ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “วัคซีนนีโอแอนติเจน” (Neoantigen Vaccine) เพื่อกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยเองให้รู้จัก จดจำและทำลายเซลล์มะเร็งที่กลายพันธุ์ในร่างกายผู้ป่วยกำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่พลิกโฉมวงการสุขภาพของโลกไปอีกขั้น

หนึ่งในผู้นำการศึกษาและพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยวัคซีนนีโอแอนติเจนในประเทศไทย ก็คือ “นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล” อดีตผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันคุณหมอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Seqker Biosciences, Inc. สตาร์ทอัพสัญชาติไทย-อเมริกันที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีรักษาโรคมะเร็งแบบภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย

คุณหมออธิบายการทำงานของวัคซีนตัวนี้ว่า “เสมือนเราส่งหน่วยสไนเปอร์เข้าช่วยชี้เป้าและร่วมรบกับทหารในตัวผู้ป่วยที่กำลังอ่อนแรงและพ่ายแพ้” คุณหมอเปรียบกับ “ยารักษาโรคเฉพาะบุคคล” ที่ใช้กระบวนการผลิตแบบใหม่ซึ่งต้องอาศัย “การถอดรหัสพันธุกรรม” ของเนื้อร้ายของคนไข้ เพื่อให้ทราบว่า เซลล์ที่กลายพันธุ์นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

ก่อนนำผลวิเคราะห์ที่ได้มาผลิตวัคซีนด้วยชิ้นส่วนเปปไทด์ที่มีรหัสแบบเดียวกันกับการกลายพันธุ์ในมะเร็งของผู้ป่วย เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยจะเกิดกลไกการจดจำว่า ต้องกำจัดเซลล์มะเร็งหน้าตาแบบนี้ พร้อมกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดให้ออกมาทำลายเซลล์ที่กลายพันธุ์นั้นๆ ด้วย โดยขณะนี้กำลังวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวัคซีนนีโอแอนติเจนนี้ต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษามะเร็ง

ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบกับผู้ป่วยมะเร็งภายใต้โครงการศึกษาวิจัยทางคลินิก โดยที่ผ่านมา จากการฉีดให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เราทำไป 12 คนเรียบร้อยแล้ว พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยดี ไม่มีผู้ป่วยที่แพ้วัคซีนและระดับภูมิคุ้มกันก็ขึ้นดีมากเป็นส่วนใหญ่

คุณหมอไตรรักษ์ บอกว่า องค์ความรู้สมัยใหม่ทำให้เรามีกลยุทธ์ในการเอาชนะมะเร็งมากขึ้น โดยพบว่าที่เซลล์มะเร็งมีความสามารถในการเอาตัวรอดจากระบบภูมิคุ้มกันนั้น เกิดมาจากการปรับตัวให้มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เหมือนเชื้อโควิดที่พยายามหลบหนีภูมิคุ้มกัน ในก้อนเนื้อเดียวกันอาจมีการกลายพันธุ์เป็นหมื่นแบบ ยิ่งกระจายไปแต่ละจุดก็กลายพันธุ์ต่างกันไป ดังนั้นเราจึงไม่สร้างวัคซีนนีโอแอนติเจนแบบเดียวให้แก่ผู้ป่วยแต่ละคน แต่เราสร้างถึง 20 แบบ  

หากเราฉีดวัคซีนเข้าไปแค่เข็มเดียว ก็เปรียบเสมือนทหารรู้จักหน้าคนร้ายแค่ตัวหนึ่ง เราจึงต้องสอนทหารให้รู้จักหน้าคนร้ายหลายๆ ตัว จึงจะสามารถทำลายเซลล์กลายพันธุ์หลายๆ แบบได้ ทหารกล้าตัวนั้นก็คือ “เม็ดเลือดขาวทีเซลล์” ที่สามารถส่งโปรตีนเข้าไปเจาะรูผนังเซลล์มะเร็งจนพรุนก่อนย่อยสลาย

“เทคโนโลยีนี้สมัยก่อนทำไม่ได้ ทั้งเรื่องการถอดรหัสพันธุกรรมและการผลิตวัคซีนให้หลากหลายในเวลาหลักเดือน แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อเราพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลจนสำเร็จ และสามารถให้บริการได้ ก็น่าจะมีราคาถูกกว่าในต่างประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย ก็มักจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยในโครงการวัคซีนนีโอแอนติเจนนี้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายต่อผู้ป่วยแต่ละคนเป็นหลักล้านบาท เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ต้องให้ร่วมกับยาแอนติบอดีรักษามะเร็ง และกระบวนการต่างๆ เช่นกัน

หลายปีที่ทุ่มเทเวลาในห้องทดลอง พลังงาน ความคิด และงบประมาณ ที่ลงไป ส่งผลให้คุณหมอไตรรักษ์ก้าวมาถึงจุดที่ผลการทดลองทุกอย่างบ่งชี้ว่าวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลมีโอกาสที่จะพัฒนาก้าวไปสู่ระดับมาตรฐานโลกได้ด้วยฝีมือคนไทย แต่ยังมีอุปสรรคที่สำคัญ คือ การผลิตและจำหน่าย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการนำวิจัยดีๆ มาสู่การใช้งานจริง ที่ต้องมีบริษัทเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุน และขายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ อย่างจริงจัง การลงทุนครอบคลุมทั้งสร้างห้องวิจัย ทดลอง และนำเทคโนโลยีระดับโลกมาใช้ ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณสูงมากระดับหนึ่ง

ที่ผ่านมาคุณหมอไตรรักษ์ได้หารือกับบริษัทยารายใหญ่หลายแห่ง ทั้งในและต่างประเทศ ส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเรื่องตลาดรองรับในประเทศไทย ไม่ใหญ่เพียงพอ ถือเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ไม่คุ้มทุน และแม้จะขายในภูมิภาคอาเซียนด้วย ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะคุ้มค่าลงทุนหรือไม่ บริษัทส่วนใหญ่วิเคราะห์แล้วไม่คุ้ม ตลาดบ้านเราไม่ใหญ่พอ โดยบอกว่าต้องมียอดขายปีละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท จึงจะคุ้มค่าที่บริษัทไหนจะมาทำต่อ

ทำอย่างไรให้เทคโนโลยีไปให้ถึงมือผู้ป่วย ด้วยเป็นคุณหมอหัวก้าวหน้า ได้ร่ำเรียนที่ไทยและจาก สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซทส์ (MIT) มีประสบการณ์ทำงานกับ สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (National Institutes of Health) กว่า 10 ปี คุณหมอ ได้เริ่มนำพาตัวเองออกมา ตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อ Seqker Biosciences เพื่อความคล่องตัวในการผลักดันวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลต่อไป ด้วยการคิดกระบวนการผลิตแบบใหม่ทั้งหมด 

Seqker Biosciences มีสัญชาติไทย-อเมริกัน คุณหมอร่วมทำงานกับลูกศิษย์ที่จบจาก MIT มุ่งให้บริการผู้ป่วยคนไทย เริ่มจากโครงการศึกษาวิจัยทางคลินิกในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ 1-2 แห่ง ที่กำลังดำเนินการอยู่ ให้บริการ ตรวจพันธุกรรมมะเร็งด้วยเทคโนโลยี จีโนมิกส์แบบครบวงจร (Comprehensive Genomic Profiling) เพื่อการรักษามะเร็งแบบแม่นยำ และการให้ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็งแบบเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยี วัคซีนนีโอแอนติเจนเฉพาะบุคคล (Personalized Neoantigen Vaccine)

แม้จะเป็นสัญญาณที่ดีของการรักษาโรคร้ายในอนาคต แต่ยาฉีดรักษามะเร็งที่ยังแพง ทำให้คนทั่วไปเข้าไม่ถึงการรักษา นั่นคือ “ช่องว่าง” ทางสังคมที่คุณหมอไตรรักษ์มองเห็น แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก และในอนาคตจะยิ่งลำบาก เพราะบริษัทยารายใหญ่จะลดการวิจัยและผลิตยาเม็ดลงไป หันมาผลิตยาราคาสูงที่รักษาตรงจุดเฉพาะบุคคลซึ่งทำกำไรได้ดีกว่า

“อย่างตอนนี้ คนรวยมากๆ บินไปสหรัฐอเมริกา ไปฉีดยารักษา แต่การทำแบบนี้ได้ เป็นคนจำนวนน้อยมากๆ ที่จะเข้าถึง ยาแบบเข็มเดียวจบไม่มี ต้องฉีดเรื่อยๆ วงการยาก็ Struggle บริษัทยายักษ์ใหญ่ก็แข่งกันเอง สู้กันให้อยู่รอด เป็นเรื่องธุรกิจ ทุกคนต้องการการเติบโต ของก็แพงขึ้น ”

ดังนั้นสุดท้ายต้องคิดว่าประเทศไทยจะทำเองได้หรือไม่ คุณหมอ บอกว่า ได้แต่ไม่ง่าย แม้เราจะพัฒนานวัตกรรมใช้เองได้ถูกกว่า และมียาใหม่เข้ามาสู่ตลาดได้ แต่ข้อเสียคือการลงทุนพัฒนายาตัวหนึ่งในต่างประเทศใช้เงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สิงคโปร์ที่พัฒนาก้าวไประดับสูงมากแล้ว ยังทำยาเองไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่สำคัญคือสภาพแวดล้อมและตลาด อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน หรือ อินเดีย ทำยาเองได้ เพราะขายในประเทศก็เรียกได้ว่าคุ้มค่าแล้ว

ดังนั้น สิ่งที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจอย่างมากที่สุด คุณหมอไตรรักษ์ ย้ำว่า ต้องเป็น Ultimate Goal สำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสาธารณสุข ก็คือ “การศึกษา” เพื่อสร้างสุขภาพ ลงทุนเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตคนไทยตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

“การคิดค้นวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล ถือเป็นส่วนหนึ่งในเจตนารมณ์ของชีวิต ต้องสร้างฐานให้คนรุ่นหลังได้ก้าวเดินตามมาด้วย มาช่วยกันพัฒนาต่อ จนคนไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยและเหมาะสม เราถึงจะสามารถกล่าวได้ว่าหมอไทยทำได้สำเร็จแล้ว”