รู้หรือไม่…ว่าอาการแบบนี้เป็นเรื่องของสาววัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และจิตใจ ซึ่งเกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ที่ทำงานลดลง ส่วนใหญ่เกิดในช่วงอายุ 45-59 ปี หรือบางคนก็เกิดช่วง 45-55 ปี เมื่อประจำเดือนเริ่มมาไม่สม่ำเสมอ เป็นสัญญาณเตือนแล้วว่ากำลังเข้าสู่วัยทอง
อาการของวัยทองมีอะไรบ้าง เราได้รับข้อมูลจากพี่ณัฐชญา สง่าอารีย์กุล พยาบาลวิชาชีพ ที่ทำงานให้ความรู้กับสตรีวัยทองในคลินิกต่อมไร้ท่อทางนรีเวชและวัยทอง รพ.ศิริราช มากกว่าสิบปี เธอบอกว่า ก่อนหน้ามีคนไข้เข้ามาที่คลินิกราว 100 คนต่อวัน ต่อมาด้วยกำลังของหมอพยาบาลเพียง 8 คน จึงจำกัดคนไข้เหลือ 75 คนต่อวัน
สาววัยทองต้องมาหาหมอทุกคนหรือไม่ พี่ณัฐชญา บอกว่าไม่ทุกคน หากปรับตัวได้ก็ไม่จำเป็นต้องมาหาหมอ แต่บางคนอาการวัยทองกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันถึงขั้นไปทำงานไม่ได้ หรือบางคนมีปัญหากับคนในที่ทำงาน หรือครอบครัว ก็ต้องมาให้หมอประเมิน โดยหมอจะเจาะเลือด ตรวจร่างกาย ดูการทำงานของรังไข่ ดูการมาของประจำเดือน รวมถึงดูประวัติครอบครัว และดูอาการประกอบกัน
คงสงสัยกันแล้วว่าเมื่อเข้าวัยทองส่งกระทบ “ขนาดนั้นเลยหรือ” เรามาเรียนรู้อาการวัยทองกัน เริ่มแรกประจำเดือนจะมาไม่สม่ำเสมอก่อน และตามมาด้วยอาการดังต่อไปนี้
1. ร้อนวูบวาบ
2. หนาวๆ ร้อนๆ
3. เหงื่อออกง่าย มักออกตอนกลางคืน
4. ชาปลายมือปลายเท้า
5. หงุดหงิดง่าย
6. ใจน้อย
7. ซึมเศร้า
8. นอนไม่หลับ
9. ปวดเมื่อยตัว
10. อารมณ์ทางเพศลดลง หรือไม่มี
11. ช่องคลอดแห้ง
12. กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
แต่ก็ไม่ทุกคนที่มีอาการเหล่านี้ แต่ละคนมีอาการไม่เหมือนกัน และเป็นยาวนานแตกต่างกันไป บางคนเกิดอาการหลังหมดประจำเดือน 1 ปี หรือบางคนเกิดอาการคู่กันไปเลยในช่วงกำลังจะหมดประจำเดือน แล้วเป็นนานแค่ไหนอยู่ที่ระดับฮอร์โมนของแต่ละคน บางคนมีอาการนาน 5-10 ปีเลยก็มี
“หมอจะประเมินคนไข้ก่อนว่าอาการของวัยทองนั้นกระทบต่อชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน ให้คำปรึกษาก็เพียงพอเพราะคนไข้สามารถดูแลตัวเองได้ หรือจำเป็นต้องรับฮอร์โมนยา หรือต้องส่งต่อไปหน่วยอื่น อาทิ หน่วยตรวจโรคสูติศาสตร์ หรือจิตเวช ในกรณีที่มีอาการมากๆ เช่น หงุดหงิดง่ายมาก ฉุนเฉียวเสียงดัง ปาข้าวของ ซึมเศร้า ซึ่งเราทำงานร่วมกับหน่วยอื่นๆ อยู่แล้ว ”
สาววัยทองบางคนแม้จะมีอาการ ก็อาจไม่จำเป็นต้องรับยาก็ได้ หากทำกิจกรรมเพื่อลดอาการ หรือทำให้ตนเองผ่อนคลาย เช่น ลดอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกง่าย หรือหงุดหงิดง่าย ก็อาจจะอยู่ในที่เย็นหน่อย หรือกินน้ำเย็น หาเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงชากาแฟ กินนมถั่วเหลือง ออกกำลังกายด้วยวิธีต่างๆ ตามที่ถนัด เช่น ฝึกโยคะ ไทชิ หรือทำสมาธิ
ส่วนอาการนอนไม่หลับ สามารถแก้ไขด้วยการอบสมุนไพร สวดมนต์ก่อนนอน เข้านอนในเวลาเดิมทุกๆ วัน ฝึกการหายใจ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายใกล้เวลานอน ฟังเพลงผ่อนคลาย เป็นต้น ส่วนอาการปวดเมื่อย สามารถแก้ด้วยการบริหารร่างกายด้วยตนเอง การนวด หรือใช้ยาแก้ปวดตามอาการ ส่วนกรณีช่องคลอดแห้ง ก็จะมียาเฉพาะที่เป็นยาทาภายนอก เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อมาพบหมอจะให้คำแนะนำการดูแลตัวเองในช่วงวัยทอง พร้อมกับแนะนำให้ลดพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพ เพราะวัยทอง อายุเข้าใกล้ 60 ปีแล้ว ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่มาพร้อมกับวัยด้วย เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิต ไขมัน หลอดเลือดหัวใจ สมองเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น หรือบางคนก็มีโรคประจำตัวเหล่านี้แล้ว
สำหรับพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
1. สูบบุหรี่ การเสพสิ่งเสพติด และของมึนเมา
2. ลดอาหารประเภทโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพื่อไม่ให้ลำไส้ทำงานหนักเกินไป
3. ลดของหวาน ของมัน
4. เพิ่มบริโภคอาหารที่มีกากใย จำพวกผักผลไม้ ช่วยลดการดูดซึมไขมัน น้ำตาล และยังช่วยในการขับถ่ายอุจจาระได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
5. บริโภคอาหารเพิ่มแคลเซียม เช่น ปลาเล็กปลาน้อย นม และผลิตภัณฑ์จากนม โดยให้เน้นนมพร่องมันเนย ถั่ว งา ผักใบเขียว
6. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เป็นการออกกำลังกายประเภทใดก็ได้ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อย หัวใจเต้นเร็วขึ้น ในกรณีที่หมอเห็นว่าอาการของวัยทองมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากๆ ถึงจะให้ยาฮอร์โมน แต่บางกรณีก็ต้องให้ยาฮอร์โมนเลยตั้งแต่อายุน้อยๆ เช่น ผู้หญิงที่ต้องตัดรังไข่ออกไป
สาววัยทองเป็นวัยที่มีคุณค่า หากดูแลตัวเองอย่างดี ให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ยืดเวลาเจ็บป่วยออกไปให้นานที่สุด…เพื่อไม่ให้เป็นภาระของใครก่อนวัยอันควร