back to top

“ตู้ห่วงใย” บริการการแพทย์ทางไกลเชิงรุกในชุมชน

“ตู้ห่วงใย” นวัตกรรมสุขภาพใหม่ 30 บาทรักษาทุกที่ ดูแล “สิทธิบัตรทอง” พบหมอผ่านวิดีโอคอล ไม่ต้องไป รพ. ดูแลรักษาครอบคลุม 42 กลุ่มอาการ รอรับยาที่บ้าน เริ่มนำร่องที่ชุมชนสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่เป็นแห่งแรก พร้อมจะขยายติดตั้งเพิ่มครบ 50 เขตทั่ว กทม. หากประเมินผลแล้วประชาชนตอบรับบริการ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เปิดตัว “ตู้ห่วงใย บริการการแพทย์ทางไกลเชิงรุกในชุมชนด้วย 30 บาทรักษาทุกที่” ที่ชุมชนสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนวัตกรรมภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ได้ร่วมกับ บริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด เพื่อดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30บาท) ให้เข้าถึงสิทธิและการรักษาพยาบาลโรคทั่วไป 

ทั้งนี้ ตู้ห่วงใยจะมีลักษณะเป็น “สถานีสุขภาพ” (Health Station) ซึ่งภายในเครื่องจะติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์วัดสัญญาณชีพต่างๆ ในการตรวจค่าสุขภาพพื้นฐานที่แม่นยำ และรับผลการตรวจได้ทันที ที่สำคัญยังสามารถพบแพทย์ผ่านระบบวิดีโอคอล โดยในผู้ป่วยที่ต้องรับยายังสามารถเลือกรับยาที่บ้าน หรือไปรับที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยตัวเองก็ได้ 

“บริการนวัตกรรมตู้ห่วงใยนี้ เป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะช่วยให้ประชาชนเข้ารับการรักษาและตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานผ่านระบบวิดีโอคอลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และใกล้บ้านโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ครอบคลุมถึง 42 กลุ่มโรค พร้อมบริการจัดส่งยาถึงบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นผลดีต่อระบบสุขภาพโดยรวม ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล สอดคล้องกับเป้าหมายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่” รมว.สาธารณสุข กล่าว 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตู้ห่วงใยใช้พื้นที่ในการติดตั้งไม่เกิน 5 ตารางเมตรโดยประมาณการ ซึ่งภายในตู้ฯ จะมีระบบการตรวจสุขภาพและตรวจสัญญาณชีพ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดอุณหภูมิ ค่าออกซิเจนในเลือดและความดันโลหิต พร้อมระบบการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่านการ Video Call พร้อมข้อมูลค่าสุขภาพเบื้องต้น

“ที่ผ่านมาเราได้เปิดให้บริการตู้ห่วงใยจุดแรกในชุมชนสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่แล้ว และจะติดตามประเมินผล หากได้รับการตอบรับบริการก็จะขยายให้ครอบคลุมชุมชนต่างๆ ครบทั้ง 50 เขตใน กทม. เพื่อให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แม้เป็นคนต่างจังหวัด ก็นำบัตรประชาชนใบเดียวมาใช้สิทธิบัตรทองที่ตู้ห่วงใยใกล้บ้านได้ ซึ่งรองรับให้บริการได้ 72 คนต่อวัน หรือให้บริการเฉลี่ย 6 คนต่อชั่วโมง” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ระบบบริการของตู้ห่วงใย มีความคล้ายคลึงกับระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพียงแต่จากที่ต้องใช้สมาร์ทโฟน เป็นการเข้ารับบริการที่ตู้ห่วงใยแทน ทำให้ประชาชนสิทธิบัตรทองฯ ที่ไม่มีอุปกรณ์เทคโนโลยี ใช้สิทธิเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ นอกจากจุดบริการที่ชุมชนสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่แล้ว หลังจากนี้จะขยายการติดตั้งเพิ่มเติมที่สถานีกลางบางซื่อ โครงการเคหะชุมชนดินแดง 1 และ 2 ในพื้นที่แยกประชาสงเคราะห์ เขตห้วยขวาง เป็นลำดับต่อไป 

นายเกียรติศักดิ์ มีสมพร ประธานสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ กล่าวถึงตู้ห่วงใยที่ติดตั้งในชุมชนสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ว่า ที่นี่เรามีคนในชุมชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง 1,043 คน ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมตู้ห่วงใยนี้ รวมถึงคนที่อยู่ละแวกใกล้เคียง ช่วยให้ไม่ต้องเดินทางและไม่ต้องเสียเวลารอคอยเข้ารับบริการที่สถานพยาบาล อย่างไรก็ดีหากเป็นไปได้อยากให้เพิ่มโอกาสให้ประชาชนทุกสิทธิสามารถเข้ารับบริการที่ตู้ห่วงใยนี้ได้เช่นกัน

ขณะที่ น.ส.กรรณิกา อุดมวัฒนา อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 17 ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เขตจตุจักร กล่าวว่า รู้สึกมีอาการปวดแขน เดิมทีก็ตั้งใจไปหาหมออยู่แล้ว แต่พอดีมีตู้ห่วงใยมาติดตั้ง จึงมาลองใช้สิทธิบัตรทองรับบริการดู จากที่ได้ทดลองใช้งานรู้สึกว่ามีความสะดวกและรวดเร็ว ได้พบคุณหมอผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้คุณหมอได้วินิจฉัยเบื้องต้นก่อนและสั่งจ่ายยาให้ โดยได้เลือกจะรับยาที่บ้าน ซึ่งระบบนี้ถือว่ามีความสะดวกและรวดเร็ว และไม่ยุ่งยากในการรับบริการ