back to top

เร่งจัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วยติดเตียงทั่วประเทศ ประสานการไฟฟ้าไม่ตัดไฟทุกกรณี

มีผู้ป่วยติดเตียงมากกว่า 40,000 ราย แต่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีข้อมูลผู้ป่วยติดเตียงที่มีความจําเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาลเพียง 452ราย ส่วนในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีข้อมูลเพียง 200 ราย ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการตัดไฟฟ้าในบ้านที่ค้างชำระค่าไฟฟ้าและมีผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครพนม ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา จึงเป็นที่มาให้เกิดการลงนามความร่วมมือเมื่อวันที่ 25 พ.ย.67ระหว่าง กระทรวงพลังงาน  สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงสาธารณสุข กฟภ.และ กฟน.เพื่อบูรณาการให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าในทุกกรณี

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เป็นการบูรณาการการทำงานเพื่อให้ความคุ้มครองต่อชีวิตและทรัพย์สินกับประชาชนในฐานะผู้ใช้พลังงาน ซึ่งต้องทำควบคู่กันกับความพยายามที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน และการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน ให้การบริการด้านไฟฟ้าให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

“การให้บริการด้านพลังงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนผู้ใช้พลังงานต้องได้รับเท่าเทียมกันทุกคนอย่างเป็นธรรม สำคัญกว่านั้นคือ การให้ความคุ้มครองสิทธิในการดูแลความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน และขอเน้นย้ำเรื่องผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาลจะต้องไม่ถูกงดจ่ายไฟฟ้าทุกกรณี เพื่อให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นศูนย์”

ทางด้าน ดร. พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า สาเหตุหลักๆ ที่เราพบปัญหา คือ ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยอยู่ในความดูแลไม่ได้แจ้งข้อมูลกับทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในพื้นที่ ทำให้การไฟฟ้า ขาดข้อมูลและนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลังจากการงดจ่ายไฟฟ้า ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันประสานข้อมูลเพื่อให้เป็นปัจจุบันและครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยจะนำร่องบูรณาการทำงานในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญซึ่งมีความพร้อมก่อนจะขยายออกไปอีก 13 จังหวัดและมีเป้าหมายให้เกิดการบูรณาการข้อมูลครอบคลุมผู้ป่วยติดเตียงที่มีความจําเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ทุกคนทุกจังหวัดภายในปี 2568 

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เชื่อมั่นว่าด้วยประสิทธิภาพและศักยภาพเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้มแข็งกระจายอยู่ทุกพื้นที่ลงลึกและครอบคลุมถึงระดับตำบลพร้อมด้วยเครือข่าย อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) รวมทั้งการมีฐานข้อมูลผู้ป่วยในพื้นที่จะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถเข้ามาประสานและทำให้การให้ความคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย รวมไปถึงการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ป่วยให้เป็นปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น

ทางด้านนายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า เรากำลังเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และกกพ. เพื่อให้รู้ข้อมูลที่อยู่ของผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษกลุ่มนี้ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยระบบ GIS และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ยังวางแผนการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ให้พร้อมให้บริการแก่ประชาชนที่มีความต้องการใช้งานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์โดยจะไม่มีการตัดไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้ในทุกกรณี ส่วนความจำเป็นในการดับไฟฟ้าชั่วคราวเพื่อการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้านั้นจะมีการแจ้งล่วงหน้าและจะนำเจนเนอเรเตอร์ หรือเครื่องปั่นไฟเคลื่อนที่ไปจ่ายไฟฟ้าให้บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์เหมือนกับกรณีฉุกเฉินอื่นๆที่เราดำเนินการมาแล้ว สำคัญที่สุด คือข้อมูลผู้ป่วยที่ต้องเข้ามาอยู่ในมือเราให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำงานกับอสม.เพื่อส่งต่อและจัดทำฐานข้อมูลให้ครอบคลุมจำนวนผู้ป่วย

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้ประสานข้อมูลกับสภากาชาดไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล โดยเราจะยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้า ทั้งนี้ถือว่าการบูรณาการทำงานครั้งนี้เป็นการทำงานเชิงรุก ช่วยให้กฟน.สามารถเข้าถึง และดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ได้รับพลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ป่วย