back to top

Take the rights path ลดการตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวี

สถานการณ์ปัญหาเอดส์ของประเทศไทยในปี 2566 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ 576,397 คน ผู้เสียชีวิต 12,072 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,083 คน เป็นการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันถึง ร้อยละ 96

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า เอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของคน คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์ (CD4 cells) หรือ ทีเซลล์ (T cells) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อ เมื่อเชื้อไวรัสเอชไอวีทำลายเม็ดเลือดขาว CD4 จนมีปริมาณไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทั้งนี้เอชไอวี คือ เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ (AIDS) หรือ Acquired Immunodeficiency Syndrome เอชไอวี และโรคเอดส์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคเอดส์เสมอไป 

อย่างไรก็ตามหากมีการติดเชื้อเอชไอวี เชื้อจะอยู่ในร่างกายตลอดไป ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาด แต่มียาต้านไวรัส ผู้ติดเชื้อกินยาเร็ว กินยาต่อเนื่อง สม่ำเสมอ สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นระยะเวลายาวนาน และช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสนี้ไปยังผู้อื่นด้วย

ทั้งนี้การติดเชื้อเอชไอวีเกิดได้จาก 1. มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือ ทวารหนัก โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย 2. ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ใช้เข็มสัก เข็มเจาะร่างกายร่วมกัน 3. โดนเข็มตำ โดยเข็มนั้นมีเลือดที่ติดเชื้อเอชไอวี ปนเปื้อนอยู่ 4. เลือด น้ำอสุจิ หรือน้ำหล่อลื่นช่องคลอดที่มีเชื้อเอชไอวี ปนอยู่ สัมผัสกับแผลเปิดบนร่างกาย การติดเชื้อเอชไอวี จะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันมากที่สุด การใช้ถุงยางอนามัย และ/หรือ แผ่นยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น จะป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านแม่สู่ลูกในระหว่างตั้งครรภ์ คลอด หรือให้นมบุตรได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี จะต้องกินยาเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อเอชไอวี ไปยังลูก

อย่างไรก็ตามเชื้อเอชไอวี ไม่ติดต่อผ่านน้ำลาย ดังนั้นจะไม่ติดเชื้อเอชไอวี ผ่านการจูบ การกินอาหารหรือน้ำดื่มร่วมกัน หรือ การใช้ช้อนส้อมร่วมกัน รวมไปถึงการกอด การจับมือ การไอ การจาม การใช้ห้องน้ำร่วมกัน ก็ไม่ใช่ช่องทางติดต่อของเชื้อเอชไอวี จนถึงปัจจุบันยังคงมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วย ลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความลังเลหรือหลีกเลี่ยงการใช้สิทธิของตน ในการเข้ารับบริการสุขภาพ ส่งผลให้ไม่ได้รับการตรวจหาการติดเชื้อ รวมถึงรับบริการป้องกัน และการดูแลรักษาที่ถูกต้องและต่อเนื่อง

ในวันเอดส์โลก (World AIDS Day) 1 ธ.ค.67 จึงกำหนดแนวคิดการรณรงค์ คือ “Take the rights path : เคารพสิทธิ มุ่งสู่การยุติเอดส์” เพื่อให้สังคมเคารพ ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิ เพราะส่งผลต่อการเข้ารับบริการสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ได้

โดยประเทศไทยได้จัดทำแนวทางยุติปัญหาเอดส์มาตลอดหลายปี โดยกำหนดให้สำเร็จภายในปี 2573 ตามเป้าหมาย 3 ประการ คือ “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” มุ่งหวังลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 1,000 รายต่อปี ลดการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ไม่เกิน 4,000 รายต่อปี ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลงเหลือไม่เกินร้อยละ 10 

นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า กรมควบคุมโรค ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย – สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ได้ดำเนินการเพื่อการยุติปัญหาเอดส์ ดังนี้ 1. การรณรงค์สร้างความเข้าใจ ยอมรับ และเคารพผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อลดการตีตราในสังคม และในสถานบริการสุขภาพ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ การเข้าสู่ระบบการรักษา “รู้เร็ว กินยาเร็ว กดไวรัสได้ ไม่ถ่ายทอดเชื้อ” 

2. ผลักดันนโยบาย ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพด้านเอชไอวี/เอดส์ อย่างครอบคลุม ทั้งด้านการป้องกัน การตรวจคัดกรอง และการรักษาเอชไอวี เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสิทธิในการดูแลสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม “เอชไอวีป้องกันได้ ตรวจง่าย รักษาฟรี” 

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้น ส่งเสริมการป้องกันและควบคุมเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเยาวชนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ด้วยชุดตรวจ HIV/Syphilis Duo Rapid Test ซึ่งได้รับสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ภายใต้โครงการป้องกันเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างครอบคลุมในเยาวชน มุ่งให้ความรู้ คำปรึกษา ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย และตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิส รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการจัดบริการ เพื่อให้เยาวชนทราบสถานะการติดเชื้อ และเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

“การดำเนินงานจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมสร้างสังคมที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมให้ประชาชนรับรู้และเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในการป้องกัน ตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เมื่อมีความเสี่ยง และรีบเข้ารับการรักษาทันทีเมื่อทราบว่าติดเชื้อ นำสู่การลดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี”