back to top

โศกนาฏกรรม ในนาม ‘ความรัก’ เริ่มต้นด้วยความรัก แต่ทำไมจบลงด้วยการทำลาย

เป็นเพราะอะไร ทำไมความรักจึงตอบแทนด้วยความรุนแรง หลายคนนึกไม่ออกว่า คนรักกันทำไมทำกันได้ขนาดนี้ หลายคู่ทำลายกันถึงชีวิต คำตอบอยู่ในช่วงทารก 2-3 ปีแรกของชีวิตว่า 1. คนนั้นได้รับการดูแลอย่างไร เอาใจใส่อย่างอบอุ่นจากผู้เลี้ยงดูหรือไม่ โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่ 2. เมื่อเด็กน้อยร้องพ่อแม่ตอบสนองอย่างไร ให้ความใกล้ชิดและสัมผัสด้วยความรักแค่ไหน 3. พ่อแม่พูดคุยกับเด็กน้อยด้วยถ้อยคำที่สะท้อนความรักความห่วงใยเพียงใด

เหล่านี้จะทำให้เด็กพัฒนาความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเอง และให้ความไว้วางใจในตัวผู้อื่น ซึ่งจะติดตัวมาจนเป็นผู้ใหญ่ เรียกว่า ลักษณะความผูกพันกับผู้อื่น แบ่งได้ 3 แบบ คือ ลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบมั่นคง แบบหลบเลี่ยง และแบบวิตกขัดแย้ง ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นแตกต่างกัน

1. ลักษณะความผูกพันแบบมั่นคง เกิดจากการที่พ่อแม่เลี้ยงดูเอาใจใส่เด็กน้อยอย่างอบอุ่น ทำให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่อมั่นในคุณค่าของตนเอง มีความรักที่อบอุ่นยืนยาวกับคนรัก แสดงความรักที่มีต่อผู้อื่น ถ้ามีปัญหาทะเลาะกันก็มักจะไม่โกรธมาก แต่ถ้าโกรธหรือทะเลาะกันก็มักจะคาดหวังในทางบวกว่าจะหาทางออกหรือตกลงคืนดีกันได้ในที่สุด ผู้ที่มีลักษณะความผูกพันแบบมั่นคงจะไม่โกรธง่าย 

2. ลักษณะความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง ผู้ใหญ่ที่เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เลี้ยงดูลูกอย่างห่างเหิน ทอดทิ้ง ไม่ใส่ใจ ทำให้ลูกไม่ได้รับการตอบสนองจากคนสำคัญที่สุดอย่างพ่อแม่ ทำให้เขามีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นในแบบที่ไม่มั่นคง จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าเพียงพอแก่ความรักและไม่เชื่อใจผู้อื่น พยายามหลีกเลี่ยงที่จะติดต่อสัมพันธ์กับใครหรือมีความรักสักครั้ง มักแสดงความก้าวร้าว โกรธเกรี้ยวง่าย และปฏิเสธมิตรไมตรีจากผู้อื่น ตอนเด็กๆ มักไม่ค่อยมีเพื่อน 

3. ลักษณะความผูกพันแบบวิตกขัดแย้ง ผ่านการเลี้ยงดูแบบที่พ่อแม่ให้ความเอาใจใส่อย่างไม่สม่ำเสมอ เขาจะมีความขัดแย้งในตัวเอง อยากจะเป็นที่รักของคนอื่น แต่ก็วิตกกังวลมากว่าตัวเองจะไม่มีค่าเพียงพอ กลัวจะถูกปฏิเสธ กลัวว่าจะไม่มีใครรักจริง เวลาเห็นแฟนคุยกับคนอื่นอาจรู้สึกหวั่นไหว วิตกกังวลมาก และอยากอยู่ใกล้ๆ คนรักเอาไว้ก่อน และด้วยความขี้หึง รวมทั้งไม่มั่นใจในตัวเอง ทำให้ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ที่ยืนยาว มักถูกเลิกราได้ง่าย 

ผู้ชายที่มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบวิตกขัดแย้ง มักทำร้ายร่างกายคนรัก เนื่องจากความโกรธและหึงหวง มักจะรู้สึกโกรธเมื่อคนรักแสดงท่าทางห่างเหิน ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ ทอดทิ้งให้เผชิญปัญหาตามลำพัง เช่น ไม่ให้เวลาว่างแก่ตนมากพอเมื่อตนต้องการ ขณะเดียวกันก็กลัวการถูกทอดทิ้งมาก จึงมักเก็บกดเอาความโกรธนี้เอาไว้ในใจ การถูกทอดทิ้งสำหรับเขา คือการสูญเสียที่ใหญ่หลวง แบบหลีกเลี่ยง และแบบขัดแย้ง จะเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มที่จะโกรธง่ายหรือขี้โมโหต่อคนรัก มีแนวโน้มที่จะทำร้ายคู่รักของตน

เปรียบเทียบกับคนที่มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบมั่นคง จะเผชิญความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่หลอกตัวเอง นำไปสู่การจัดการและปรับตัวไปตามความจริง ในขณะนี้ผู้มีความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง จะหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับว่าตนเองรู้สึกเสียใจ พยายามเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพิกเฉย ไม่สนใจต่อความรู้สึกนี้ ส่วนผู้ที่มีลักษณะความผูกพันแบบวิตกขัดแย้งจะหมกมุ่นอยู่กับความเศร้าเสียใจนั้น และขยายความทุกข์นั้นให้ยิ่งใหญ่หลวงมากขึ้น อาจรู้สึกว่าการสูญเสียคนรักเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เหมือนโลกทั้งโลกถล่มทลาย หมดสิ้นความหวัง จึงเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงสูงที่สุดที่จะทำร้ายตนเอง และทำร้ายคนรักที่ทอดทิ้งตนไป ด้วยความโกรธแค้นและสิ้นหวังในความสัมพันธ์

การเอาใจใส่เลี้ยงดูลูกหลานอย่างเพียงพอ จึงสำคัญต่อทั้งชีวิตของคนนั้น และต่อผู้อื่นที่เป็นคนในครอบครัวเขาเช่นกัน หัวใจสำคัญ คือความสม่ำเสมอในการให้ความอบอุ่น หากให้ความรักอย่างขาดๆ เกินๆ จะส่งผลให้คนนั้นเป็นผู้โหยหิวความรักในวัยผู้ใหญ่ และทนไม่ได้ที่จะไม่ได้รับความรักอีก จึงทำให้ความรักของเขาอาจลงเอยด้วยการทำลายได้ 

บางครอบครัวการที่พ่อแม่ลำบากมากมาก่อน ไม่อยากให้ลูกเหมือนตนเอง หรือให้ความสำคัญกับลูกมากๆ จากการสูญเสียลูกคนอื่น สูญเสียสามีหรือภรรยาไป หรือมีลูกเพียงคนเดียว ก็จะทุ่มเทความรักแก่ลูก อาจให้ความรักกับลูกมากเกินไปแบบไม่ถูกวิธี กลายเป็นการปกป้องจนเกินเหตุ ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญปัญหา แก้ปัญหา ผ่านความรู้สึกยุ่งยากหรืออุปสรรคในเรื่องต่างๆ เช่น “อย่าไปเลยลูกอันตราย” “อย่าทำเลยลูกลำบาก” “เหนื่อยมั้ยลูก ถ้าเหนื่อยก็ไม่ต้องเรียน ไม่ต้องทำ” การปกป้องในลักษณะนี้ จะทำให้ลูกไม่มีโอกาสเผชิญปัญหายากๆ ไม่เรียนรู้การจัดการกับความผิดหวัง และอารมณ์ทางลบ ไม่เรียนรู้ที่จะอดทนกับความยากลำบากในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ

ผลที่ตามมาจะทำให้เด็กไม่ได้พัฒนาทักษะในการดูแลตนเอง ปรับตัวต่อความเครียดเมื่อต้องเผชิญปัญหา ไม่เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา และไม่รู้จักอดทนกับความยากลำบาก เปราะบาง ติดพ่อติดแม่ พึ่งพาอาศัยผู้อื่น ตัดสินใจเองไม่ได้ มักวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ที่เผชิญ ไม่รู้สึกว่าตนเองเก่งหรือภูมิใจในตัวเอง ไม่มีภูมิต้านทานความผิดหวังที่เจอ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะยิ่งขาดความมั่นใจ หากเจอกับความผิดหวังครั้งรุนแรงจากความรัก จะทำให้รับไม่ได้ จัดการกับปัญหาไม่ได้ บวกกับความหุนหันพลันแล่น การห่างเหินจากพ่อแม่ และการได้เห็นสื่อต่างๆ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เขาตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยความตาย ทั้งฆ่าตัวเองหรือฆ่าคนรัก 

แนวทางที่ดีที่สุดคือ เปิดโอกาสให้เขาได้เผชิญความยากลำบาก ได้ใช้ความพยายามในการได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกับผู้อื่น ได้รู้สึกเจ็บปวดเพื่อจะเรียนรู้ว่าจะหลีกเลี่ยงมันอย่างไรในครั้งต่อไป โดยพ่อแม่เพียงแต่แนะวิธีการที่เป็นประโยชน์ ไม่ปล่อยให้ลองผิดลองถูกเองจนเกินไป และรับฟังความเจ็บปวดของเขาอย่างเห็นอกเห็นใจ ต้องเข้ามาประคับประคองเขา โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีอารมณ์ความรู้สึกรุนแรง ไม่มีประสบการณ์ในการเข้าใจอารมณ์รักหรือหลอกของผู้อื่น เมื่อรู้สึกรักใคร โดยเฉพาะรักแรก มักจะรักมากและฝังใจ เมื่อเขาอกหักจากคนรักก็จะเจ็บปวดมาก 

พ่อแม่ต้องทำให้เขาเห็นถึงธรรมชาติของความรักในวัยรุ่น อาจด้วยการเล่าให้ฟังว่าสมัยพ่อแม่เป็นวัยรุ่นนั้นเคยมีประสบการณ์ความรักมาอย่างไร เพื่อนำไปสู่การรู้จักหักห้ามความรู้สึกไม่ให้เศร้าโศก หรือแค้นเคืองใจต่อคนรักที่ทิ้งเขาไป ชี้ให้ลูกได้เห็นว่า การผิดหวังทำให้ได้เรียนรู้เรื่องจัดการความสัมพันธ์ เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์กับเพศตรงกันข้าม

ที่สำคัญต้องทำให้เขาเห็นว่ามีพ่อแม่อยู่ อย่างน้อยก็มีพ่อแม่ที่เห็นเขามีค่าและต้องการเขาเสมอ และจะเสียใจอย่างมากหากเขาตัดสินใจทำร้ายตัวเอง สิ่งนี้จะช่วยไม่ให้เขาทำร้ายตนเอง โดยเฉพาะในลูกชาย เพราะผู้ชายมักเสียใจจากการอกหักมากกว่าหญิง และมักไม่ระบายความพ่ายแพ้ให้ผู้อื่นฟัง แต่มีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวและทำร้ายตนเองและผู้อื่นมากกว่าผู้หญิง พ่อแม่ต้องระมัดระวังไม่ให้ลูกเข้าถึงอาวุธต่างๆ ได้ง่าย 

อีกทางหนึ่ง คือคนในครอบครัว ควรทำกิจกรรมร่วมกัน แสดงให้เขาเห็นว่า โลกนี้ยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมาก เพราะคนอกหักมักจะสิ้นกำลังใจไม่อยากทำอะไร มัวไปครุ่นคิดถึงคนที่ทำให้อกหัก พ่อแม่ต้องปลอบโยนและพร้อมรับฟัง ช่วยให้ลูกผ่านประสบการณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เขายังมีมุมมองที่ดีต่อความรัก และพร้อมจะมีรักและครอบครัวที่อบอุ่นในอนาคต

ที่มา : https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/partner-violence-2