back to top

ชวน ชูจันทร์ ปราชญ์ชาวบ้าน ชวน ปลุกพลังชุมชน ชูเศรษฐกิจท้องถิ่น

การระบาดของโควิด 19 ทำให้ทุกสังคมได้เรียนรู้การพึ่งพาตนเอง และการพึ่งพากันและกันของคนในชุมชนในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องสุขภาพ และเศรษฐกิจในชุมชน แต่นั่นแหละก็ไม่ใช่ทุกชุมชนจะประสบผลสำเร็จ เพราะบริบทแตกต่างกันไป โดยเฉพาะชุมชนเมืองใหญ่อย่างกทม. ที่มีทั้งคนดั้งเดิม คนใหม่ แล้วก็คนจากต่างถิ่นมาเช่าบ้านทำมาหากิน และความที่ต่างคนต่างทำมาหากินนอกบ้าน เช้าไปค่ำมืดถึงเข้าบ้าน ขาดการทำความรู้จักมักจี่ ขาดความไว้วางใจกัน แต่ก็มีบางชุมชนเหมือนกันก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ เรามาฟังมุมมองของลุงชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งตลาดน้ำคลองลัดมะยม ย่านตลิ่งชัน กทม. ตลาดน้ำซึ่งติดลมบนไปแล้ว ได้รับการกล่าวขานเป็นโมเดลตัวอย่างการพัฒนาชุมชนโดยใช้ตลาดน้ำเป็นกลไกขับเคลื่อนการรวมกลุ่มของคนในละแวกนั้น  

ลุงชวน นำประสบการณ์การพัฒนาตลาดน้ำคลองลัดมะยม มาถ่ายทอดให้เราฟังถึงกลเม็ด และเคล็ดลับการพัฒนาชุมชน แกเล่าย้อนว่า ก่อนปี 2547 คลองลัดมะยม ก็เกือบจะเป็นเหมือนหลายๆ คลองในกทม.ที่ใกล้ตาย เพราะน้ำเน่าเสีย ขยะลอยเต็มคลอง ลุงชวน บอกว่าในฐานะคนริมคลอง เห็นท่าไม่ดี คิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อฟื้นฟูลำคลองให้กลับคืนมา ก็คิดหลายกลเม็ดทั้งพายเรือเก็บขยะ แล้วก็คิดการใหญ่ทำตลาดน้ำชุมชน 

ลุงชวน บอกว่าไม่ง่ายในการเริ่มต้นทำอะไรใหญ่โตสักอย่าง โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องดึงคนในชุมชนมาร่วมมือ แต่ด้วยความที่เป็นคนเก่าแก่ในพื้นที่ ทุกคนรู้จัก “ใจ” ของแกดี ทำให้แกมีต้นทุนในพื้นที่ อาจบอกไม่ได้ว่าเป็นคนจนที่ยิ่งใหญ่ แต่ลุงก็ไม่ได้มีเงินมากนัก อาชีพหลักตอนนั้นคือขายข้าวแกงกับภรรยาที่ตลาด แกเริ่มต้นด้วยการรวบรวมคนที่พร้อมจะเริ่มต้นไปกับแก ด้วยมอบที่ทางเล็กๆ ให้ทำตลาดโดยใช้เงินในกระเป๋าของลุงเองสร้างเป็นตลาดขึ้นมา เพราะเจ้าของที่ดินไม่มีเงินมีแต่ที่ดิน บางคนมีที่ดินและพอมีสตางค์ก็สมทบเงินบางส่วนให้ทำตลาด แรกเริ่มมาขาย 10 ร้านเห็นจะได้ ทำไปทำมาตอนนี้ก็มีเจ้าของที่ นำที่ดินมาสมทบทำตลาดเพิ่มจาก 1 โซนเป็น 5 โซน รวม 15 เจ้าของ กินบริเวณ 20 ไร่ มีร้านรวงหลายร้อยๆ ร้านในวันนี้ 

แต่กว่าจะสร้างแบรนด์ตลาดน้ำคลองลัดมะยมมาถึงวันนี้ได้ใช้เวลาถึง 18 ปี ระหว่างทางต้องก้าวข้ามอุปสรรคมากมายแต่ลุงชวน ก็ทำไปยิ้มไปด้วยเข้าใจวิถีชาวบ้านด้วยกัน แกเล่าว่า ตอนแรกมีไม่กี่ร้านมาทำด้วยกัน พอโปโมทไปนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่มีของให้ซื้อก็มีเสียงบ่นไป ระหว่างทางเราก็พูดคุยกับชุมชนตลอดว่าสิ่งที่จะดึงดูดคนเข้ามา คือสินค้าที่ไม่สามารถหาได้แถวบ้านเขา หรือในห้างใหญ่ คำตอบก็ต้องเป็นผักผลไม้ที่ปลูกตามบ้าน หรือของพื้นถิ่น เป็นต้น คนต่างถิ่นชอบ แล้วก็ขายเฉพาะเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบๆ ได้พัก แล้วก็หยุดก็เพื่อจะบอกว่าตลาดชุมชนแบบนี้ จะตั้งหน้าตั้งตาขายอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องเอาเวลาไปดูแลผักผลไม้ เตรียมมาขายเสาร์อาทิตย์ ก็มีเวลาอยู่กับครอบครัวบ้าง อีกอย่างเราเป็นตลาดชุมชน ลูกค้าหลักเป็นคนทำงานที่ส่วนใหญ่จะหยุดเสาร์อาทิตย์ วันธรรมดาเขาไม่มาแน่ จึงจบที่ขายเฉพาะเสาร์อาทิตย์ เมื่อก่อนกรุงเทพก็มีตลาดน้ำชุมชนไม่มากที่เป็นที่รู้จัก ก็มีตลาดน้ำตลิ่งชันกับตลาดน้ำคลองลัดมะยม พอเป็นที่รู้จักก็มีนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายจำนวนมากจนตลาดขยายใหญ่อย่างทุกวันนี้

และพอเราพิสูจน์ว่าไม่ได้หาประโยชน์เข้าตัว ผมก็ขายไอติมโบราณ แล้วก็ทำสวนเหมือนที่เคยทำมา แต่ประโยชน์ใหญ่ตกกับคนท้องถิ่น เจ้าของที่ดินลูกหลานก็รักษาที่ดินได้ แล้วก็ได้ค่าเช่า ชาวบ้านก็มีที่ขายของดีๆ มีรายได้ ก็มีเจ้าของที่ดินมาให้เราทำเป็นบึงบัว เป็นจุดพักเย็นๆ ให้หย่อนใจเพิ่มเติม เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว 

ลุงชวน เล่าเพิ่มเติมว่า ที่เราทำไปพร้อมกันมาตลอดทางของการทำตลาด ก็คือการปลูกจิตสำนึกคนในชุมชนไม่ให้ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ใครทิ้งเราพายเรือเก็บเลย ก็ทำให้เขาไม่ทิ้งไปด้วย เมื่อคลองก็ไม่เน่า น้ำสะอาด ตลาดก็น่าเข้า นักท่องเที่ยวก็ติดใจ ของก็ขายได้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องมาเก็บ เอาเวลาไปทำในพื้นที่อื่นที่ยังเป็นปัญหา ทุกคนได้ประโยชน์จากคลองสะอาด ก็ทำให้เขาช่วยกันดูแลแม่น้ำลำคลอง 

การระบาดของโควิด 19 ทำให้ชุมชนมีความสำคัญมากขึ้นแน่นอน ลุงชวน บอกว่า แต่เราจะต้องหาวิธีการทำให้ความเป็นชุมชนกลับคืนมา การทำตลาดชุมชนก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง หรืออาจเป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เช่น การจัดกิจกรรมในสวนสาธารณะต่างๆ โดยตนเองเชื่อว่าพอพื้นที่เปิดหลายๆปัญหาจะถูกแก้ไข ยกตัวอย่างที่คลองลัดมะยม และที่แกเห็นกับตา ตอนมีการชุมนุมใหญ่เมื่อหลายปีก่อน พื้นที่การถกเถียงเปิด มีคนเก็บขยะกับเจ้าของคอนโดมิเนียมได้มีโอกาสเจอกันในวงพูดคุยโดยไม่รู้ใครเป็นใคร แล้วก็พูดกันถึงขยะที่ทิ้งเรี่ยราดของคอนโดมิเนียม นั้น เจ้าของคอนโดมิเนียมกลับไปจัดระเบียบการทิ้งขยะ ทุกอย่างจบโดยไม่ต้องใช้กฎหมาย นี่คือตัวอย่างว่าปัญหาทุกอย่างไม่ได้จบที่การบังคับใช้กฎหมายเสมอไป

ผมเชื่อว่าลึกๆ ในใจมนุษย์มีความเมตตาและเอื้ออาทร ทำไมเด็กเล็กผิวขาวหรือดำเล่นด้วยกันได้ แต่ทำไมพอเติบโตขึ้นความเมตตาและความเอื้ออาทรหายไป “หวังว่าความสัมพันธ์แบบนี้จะกลับมา เมื่อพื้นที่เปิดให้เราได้พูดคุยกัน แล้วตกผลึกกันที่ประโยชน์ปลายทางของคนส่วนใหญ่”

นับจากวันนี้ไปชุมชนต้องปล่อยพลังออกมา เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ลุงชวน ย้ำว่ารัฐต้องไม่นำหน้า ไม่เอาพิมพ์เขียวไปทำให้เหมือนกันทุกพื้นที่ ต้องทำหน้าที่สนับสนุนเท่านั้น จุดสตาร์ท คือ ชุมชนต้องดูว่าในพื้นที่มีอะไร โดยให้ช่วยกันค้นหา และพร้อมจะทำอะไรด้วยกัน หลักๆ คือทำอะไรเล็กๆไปก่อน แล้วค่อยขยายออกไป หากจะล้มเหลวกลางทางก็ยังดีกว่าไม่ลงมือทำอะไรเลย

ลุงชวน แนะนำว่า ตอนนี้พลังงานราคาสูง ข้าวของแพง อาจคุยกันในชุมชนทำพลังงานชุมชน ทำโรงน้ำดื่มเล็กๆในชุมชน ทำแฟมิลี่ฟาร์ม ลดค่าใช้จ่าย หรือทำธนาคารชุมชน ลดปัญหาการเป็นหนี้นอกระบบ โดยไม่ต้องไปเอากฎเกณฑ์มากำกับให้คนในชุมชนมาลงขันกัน ใครเดือดร้อนมากู้ไป เอาความดีมารับประกัน หากใครมีพฤติกรรมไม่เหมาสม ก็ไม่ให้กู้ เป็นต้น ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ต้องเรียนรู้จากการทำงานด้วย เพื่อสร้างทักษะใหม่ๆ

“แน่นอนการจะทำเรื่องอะไรก็ตามนั้น ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จง่ายๆ อยู่ที่วิธีคิด หากคิดว่าทำไม่ได้ ไม่มีใครทำหรอก เสียเวลาเปล่า ก็คงไม่ได้เริ่มต้นทำอะไร หากพยายามทำไป 1000 ครั้งไม่สำเร็จ ล้มเลิกไปก่อน ครั้งที่ 1001 อาจสำเร็จก็ได้ อยู่ที่เราอึดพอหรือไม่เท่านั้น ”

ลุงชวน ฝากแง่คิดไว้ว่า แท้จริงมนุษย์ไม่ได้ต้องการอะไรมาก อาหารการกินก็ไม่ได้มากมายอะไร สำคัญ คือคนรอบข้างเป็นอย่างไรมากกว่า โดยเฉพาะคนในชุมชนรอบๆบ้าน ซึ่งเราต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดังนั้นต้องช่วยกันเปิดพื้นที่ สร้างสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนให้กลับคืนมา เพื่อทำให้สังคมน่าอยู่