back to top

เฝ้าระวังไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 

ฤดูหนาวเป็นช่วงที่อากาศเย็นลง ทำให้อุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทำให้ป่วยง่าย และสภาพอากาศเย็นยังเอื้อต่อการแพร่กระจายของไวรัส เป็นอีกฤดูที่ทุกคนต้องเตรียมรับมือกับโรคภัย ล่าสุดกรมควบคุมโรคกำลังเฝ้าระวัง ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 โดยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ประกาศพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 รุนแรงรายแรกในรัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ป่วยสะสมรายที่ 61 เป็นชายสูงอายุ 65 ปี และมีโรคประจำตัว ขณะนี้กำลังรักษาตัวในห้องไอซียูด้วยภาวะระบบทางเดินหายใจรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดนก มีประวัติสัมผัสกับนกป่วย และนกตายภายในฝูงนกหลังบ้าน ถือเป็นกรณีแรกที่มีความเชื่อมโยงกับการได้รับเชื้อจากฝูงสัตว์ปีกในบ้าน จากการตรวจสารพันธุกรรมเบื้องต้นชี้ว่าไวรัส H5N1 ที่ตรวจพบในผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มพันธุกรรม D1.1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับไวรัสในนกป่าและสัตว์ปีกในสหรัฐฯ รวมถึงกรณีพบผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศแคนาดา และรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ไข้หวัดนกเป็นโรคจากสัตว์มาสู่คน เดิมพบเชื้อไข้หวัดนกติดในสัตว์ปีก แต่ระยะหลังพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือ ในฟาร์มโคนม ฟาร์มหมู ล่าสุดพบในสหรัฐฯ แต่ยังไม่แพร่จากคนสู่คน

สำหรับสถานการณ์ล่าสุด นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่าข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2567 รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2546 – 1 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยสะสม 939 ราย เสียชีวิต 464 ราย ใน 24 ประเทศ และข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Centers for Disease Control and Prevention; U.S. CDC) ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2567 รายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในปี 2567 จำนวน 64 ราย ใน 9 รัฐ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการสัมผัสโคนมที่ติดเชื้อ 39 ราย สัมผัสสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ 22 ราย สัมผัสสัตว์อื่นๆ 1 ราย และไม่ระบุแหล่งที่มาของการติดเชื้อ 2 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยในปี 2567 เพิ่มเติมในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว

นพ.ภาณุมาศ ระบุว่าสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงขึ้น ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยเชื่อมโยงกับสัตว์ปีกติดเชื้อ สัตว์ปีกป่วยตาย หรือโคนมที่ติดเชื้อ อีกทั้งยังมีการพบเชื้อในสัตว์ปีก นกธรรมชาติ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 

ที่ผ่านมาประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกรายสุดท้ายเมื่อปี 2549 จากนั้นกรมควบคุมโรคได้จับมือกับหลายภาคส่วนทั้งกรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จัดการฝึกซ้อมแผนร่วมกันแบบบูรณาการทั้งหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพคนและสัตว์ จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรคดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และมีการสำรองวัสดุ อุปกรณ์ ในการป้องกัน ควบคุมและรักษาโรคไข้หวัดนก พร้อมทั้งเตรียมห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจหาเชื้อไข้หวัดนก (H5) ที่ก่อโรคในคนอีกด้วย

ด้าน นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้เพิ่มความเข้มงวดการเฝ้าระวังในโรงพยาบาลและจุดคัดกรองโรค โดยได้สั่งการและให้คำแนะนำหน่วยบริการในทุกจังหวัดยกระดับการเฝ้าระวังในคน โดยเน้นการซักประวัติเสี่ยง ณ จุดคัดกรองโรคที่โรงพยาบาล ติดป้ายแจ้งเตือนผู้มารับบริการ หากผู้ป่วยที่มีอาการไข้ และมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือฟาร์มโคนมให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่

โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก และมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ หรือตาแดงอักเสบ ภายใน 14 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง 

สำหรับประชาชนควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนมที่ป่วย หรือตาย ในระยะนี้ หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีก สุกร หรือโคนม ควรสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก สุกร และโคนม หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมาก ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ ไม่ควรนำซากสัตว์ปีกหรือสัตว์ที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุไปประกอบอาหาร

ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ปีก บุคลากรทางการแพทย์ ควรเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถึงแม้วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกได้ แต่วัคซีนช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง อาจป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน (coinfection) และลดการเกิดไวรัสลูกผสมระหว่างไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนกที่รุนแรง และแพร่ระบาดง่ายขึ้น 

ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใช้ภายในประเทศ หากได้รับการสนับสนุนจะสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ เพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนและเป็นการเพิ่มความพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินหากเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อ ไข้หวัดนก