back to top

ต้องแล้วล่ะ! คาร์บต้องไม่เกิน 20% 

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ  NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรถึง 41 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็น 71% ของการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมด โดยเฉพาะโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำหรับในประเทศไทยโรค NCDsm เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต และคนไทยมากกว่า 14 ล้านคน กำลังเผชิญกับโรค NCDs มากกว่า 4.8 ล้านคนเป็นโรคเบาหวาน 

สาเหตุหลักของการเกิดโรค NCDs อยู่ที่การบริโภคอาหาร โดยเฉพาะของหวาน มัน เค็ม จากข้อมูลพบว่า คนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชามากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา นอกจากนี้ยังได้รับโซเดียมจากอาหารที่บริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน ขณะที่ WHO แนะนำบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก./วัน อีกสาเหตุการเกิดโรคพบว่าคนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด19 จาก 74.6% เหลือ 55.5% ในปี 2563 ที่ผ่านมาจึงมีการกระตุ้นให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจนขึ้นมาอยู่ที่ 68.1% ในปี 2566 

อย่างไรก็ตามกรมอนามัยยังรณรงค์ต่อเนื่องให้มีการนับคาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรต ไม่ให้เกิน 20% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการ พร้อมกับปรับพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งการกินอาหารให้เหมาะสมกับการใช้พลังงาน การออกกำลังกาย เพิ่มกิจกรรมทางกายการสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เพิ่มการเผาผลาญ รักษาความยืดหยุ่นของหลอดเลือด 

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่าการมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วยนำออกซิเจน และสารอาหารจากเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้หัวใจไม่บีบตัวมาก เพิ่มความไวต่ออินซูลินช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และการออกกำลังกาย 4 ครั้ง ต่อสัปดาห์ วันละ 30 นาที ทำให้รู้สึกหัวใจเต้นเร็วขึ้น เหงื่อออก เหนื่อยระดับปานกลาง จะช่วยให้น้ำตาลในเลือดลดลงเป็นปกติ และสามารถลดการใช้ยาเบาหวานได้

สำหรับการรณรงค์การนับคาร์บ 20% เหมาะสำหรับผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ต้องฉีดอินซูลิน เพื่อคำนวณปริมาณคาร์บในแต่ละมื้อให้เหมาะกับยาฉีดอินซูลิน หรือผู้ที่มีความเสี่ยงเบาหวาน ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ผู้ดูแลสุขภาพที่ต้องการรักษาน้ำหนักตัว 

ทั้งนี้การจำกัดปริมาณคาร์บจะช่วยรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและป้องกัน ความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน และแนะนำการเจาะน้ำตาลก่อน และหลังอาหาร เพื่อคัดกรองภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน สำหรับโรคความดันโลหิตสูง โรคไต หากทราบปริมาณโซเดียมในอาหารจะสามารถควบคุมโซเดียมต่อวันไม่ให้เกิน 2,000 มก./วัน 

กรมอนามัย ยังแนะนำวิธีการลดความดันโดยไม่ใช้ยา ดังนี้ 

1) ควบคุมความดัน โดยลด เลี่ยง การกินอาหารโซเดียมสูง เช่น ส้มตำ ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ขนมจีนน้ำยา เกาเหลา น้ำแกง สุกี้น้ำ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้า อาหารแปรรูป กุนเชียง หมูยอ ไส้กรอก 

2) กินผักสด สีเขียว วันละ 4-6 ทัพพี และผลไม้สดวันละ 4-6 ทัพพี หลากหลายสีสัน 

3) การออกกำลังกาย 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ วันละ 30-45 นาที โดยมีเป้าหมาย 150 นาที ต่อสัปดาห์ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือดช่วยลดความดันโลหิตได้ 4-9 หน่วย (มิลลิเมตรปรอท) และการลดน้ำหนักตัวทุกๆ 10 กิโลกรัม ทำให้ความดันลดลงได้ 5-20หน่วย (มิลลิเมตรปรอท) 

4) DASH diet พืชสด : ด้วยเน้นวัตถุดิบสดตามธรรมชาติ เลี่ยงอาหารแปรรูป, ลดเกลือ : ควบคุมปริมาณโซเดียม ไม่เกิน 2,300 มก./วัน, เนื้อน้อย : เลือกปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ในปริมาณที่เหมาะสม, ด้อยไขมัน : จำกัดการบริโภคน้ำมัน และเลือกกลุ่มไขมันดี, น้ำตาลต่ำ : ลดหวาน น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน ช่วยลดความดันได้ 8-14 หน่วย (มิลลิเมตรปรอท) 

5) วัดความดันซ้ำ ทุก 1 เดือน โดยนั่งพัก 10-15 นาที ก่อนวัดความดันซ้ำ ในอิริยาบถที่ผ่อนคลายที่บ้านหรือสถานีสุขภาพใกล้บ้าน

6) การนอนหลับอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง (ไม่ตื่นบ่อยกลางดึก) วันละ 7-8 ชั่วโมง การสวดมนต์ ผ่อนคลาย นั่งสมาธิ การจัดการความเครียด สามารถลดความดันโลหิตได้เช่นกัน