back to top

นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย ในเส้นทาง ‘มรณเวชกรรม’ ปลดเปลื้องความทุกข์สู่ลมหายใจสุดท้าย ณ ศูนย์บริรักษ์ รพ.ศิริราช

วาระสุดท้ายของเราจะตายอย่างไร? จะตายที่ไหน? ตายดีหรือไม่? ล้วนเป็นคำถามที่ใครๆ ก็อยากจะรู้…เมื่อดูในต่างประเทศเค้ามีการจัด “ดัชนีวัดคุณภาพการตาย” หรือ Quality of Death Index เพื่อประเมินคุณภาพการดูแลแบบประคับประคองให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย กว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดย “ญี่ปุ่น” ประเทศที่มีแรงกดดันจากสังคมผู้สูงวัย ได้รับการพัฒนาที่น่าจับตามอง

ปัจจุบัน แม้ไม่อาจเรียกขานว่าแดน “อาทิตย์อุทัย” ได้อย่างเต็มปาก เพราะญี่ปุ่นมีประชากรเกษียณอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป สูงที่สุดในโลกใบนี้ถึง 36.27 ล้านคน แล้วหากสำรวจลึกเข้าไป คนชราญี่ปุ่นในวัย 75ปี มีสัดส่วนกว่า 19.37 ล้านคน หรือคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งหมด สุดท้ายประชากรในวัย 90 ปีที่เรียกว่าไม้ใกล้ฝั่งเต็มที่แล้วยังมีอยู่กว่า 2.65 ล้านคน

ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งซึ่งนำเสนอประเด็นที่กระตุ้นต่อมคนดู ให้หันมาสนใจค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่และการจากไปอย่างสงบ นั่นคือ “Plan 75” เนื้อหาเป็นเรื่องสมมติว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 75 ปี ขึ้นไป สามารถสมัครเข้าโครงการ “เลือกวันตายล่วงหน้า” พร้อมให้เงินเยียวยา 1 แสนเยน  

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แรงบันดาลใจจากเหตุฆาตกรรมหมู่ในปี 2016 เมื่อคนร้ายอ้างว่าคนชราเป็นภาระของสังคม ทำให้เขาบุกเข้าไปสังหารผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา จนเกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องสะเทือนใจมาก แม้ในภาพยนตร์จะแฝงอารมณ์เสียดสีว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นความเสียสละในเชิงวัฒนธรรม เพื่อประหยัดงบประมาณจำนวนมหาศาลให้เหลือมาถึงคนรุ่นหนุ่มสาวก็ตาม

ในมุมมองของแพทย์ที่เคยสัมผัสวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นในช่วงเวลาสั้นๆ ขณะเรียน Fellowship (แพทย์เฉพาะทางต่อยอด) ด้าน Palliative Medicine หรือการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และยังเป็นผู้แต่งหนังสือเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายอีก 2 เล่ม ได้แก่ มรณเวชกรรม และการุณยฆาต มีความเห็นว่า เรื่องราวในภาพยนตร์มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง…“เพราะผู้สูงวัยญี่ปุ่นมีจำนวนมาก และคนหนุ่มสาวก็ทำงานหนัก รวมทั้งเสียภาษีมาก ซึ่งภาษีก็นำไปเป็นงบประมาณดูแลผู้สูงวัยเหล่านี้ อาจทำให้คนหนุ่มสาวคิดว่าไม่เป็นธรรมกับพวกเขา”

“ภาพยนตร์เรื่องนี้ชวนให้สะท้อนใจ เพราะเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ผู้สูงวัยก็หมดความหมาย เมื่อสังคมมองแบบตัดตอน โดยไม่มองไปถึงก่อนหน้านี้ว่า พวกท่านเคยสร้างประโยชน์อะไรไว้ให้สังคมบ้าง โดยเฉพาะตัวเลข 75 ปี ในสังคมญี่ปุ่นถือว่าไม่สูง และส่วนใหญ่ยังแข็งแรง เทียบกับสังคมไทย คนไทยอายุถึง 75 ปี มีไม่มากนัก”

คุณหมอท่านนี้ คือ “คุณหมอโย” นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย แพทย์ชำนาญการพิเศษด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ประจำศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งทำงานกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยตรงมาตั้งแต่ยังไม่มีใครรู้จักการแพทย์ด้านนี้ว่าคืออะไร แต่ปัจจุบัน เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากมีการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ และยังมีแผนกนี้เปิดให้บริการในโรงพยาบาลหลายแห่งแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจที่สับสนว่าเป็นสิ่งเดียวกันกับ “การุณยฆาต” (Euthanasia) หรือไม่ คุณหมอจะเล่าทั้งหมดให้ฟัง

THE HUMANs : คุณหมอช่วยเล่าถึงศูนย์บริรักษ์ และแนวคิดในการดูแลผู้ป่วยหน่อยค่ะว่าคืออะไร

“ศูนย์บริรักษ์ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 11 ปีก่อน ถือเป็นศูนย์ฯ แรกๆ ของประเทศเพื่อให้บริการด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายจากโรคที่เป็นอยู่ได้ หรือผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค โดยผู้ป่วยเหล่านี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องใกล้เสียชีวิตทุกราย เพราะบางรายสามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้เป็นปี 

ส่วนแนวคิดในการดูแล เราจะดูแลความเป็นมนุษย์ให้ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ อย่างด้านร่างกาย เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการต่างๆ เช่น ความปวด เหนื่อย อ่อนเพลีย กินอาหารไม่ได้ ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องของอาการปวด นับว่าพบบ่อย และสร้างความหวาดกลัวให้คนไข้ได้มากที่สุด ซึ่งทางการแพทย์คือการรักษาด้วยยาระงับปวด โดยยากลุ่มหลักๆ ที่ใช้คือ Opioids อย่างเช่นมอร์ฟีน หรือการทำหัตถการ เช่น ฉีดยาเพื่อทำให้เส้นประสาทเกิดอาการชา หรือทำลายเส้นประสาทเพื่อไม่ให้รับรู้ถึงความรู้สึกปวดนั้น เป็นต้น 

ทางด้านอารมณ์ หรือจิตใจ ก็หมายถึงความเศร้า ความวิตกกังวล และบางคนก็มีความหวาดกลัวผสมอยู่ด้วย โดยผู้ป่วยมักกังวลถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ซึ่งต้องดูแลความรู้สึกเหล่านั้น เพื่อให้ผู้ป่วยผ่านพ้นไป จึงเป็นงานที่ต้องใช้จิตวิทยาสูง ส่วนด้านสังคม ก็หมายถึงครอบครัวของผู้ป่วย เพราะครอบครัวคือผู้ดูแล หากครอบครัวสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ ก็สามารถดูแลผู้ป่วยได้ หรือแม้แต่เมื่อครอบครัวต้องเผชิญความสูญเสีย หมอก็มีหน้าที่ที่ต้องช่วยดูแลด้วยเช่นกัน

สุดท้ายคือด้านจิตวิญญาณ มิติด้านนี้ค่อนข้างลึกซึ้งกว่าทุกมิติ ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ของผู้ป่วยต่อตัวผู้ป่วยเอง ต่อคนรอบตัว และต่อสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ โดยจิตวิญญาณของคนเรานั้นไม่อยู่นิ่ง มักแกว่งไปในสองทาง ตามแต่ว่าจะเข้าใจในตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน หากเข้าใจดีก็จะเกิดความผาสุกทางจิตวิญญาณ แต่ถ้าไม่เข้าใจเลยก็จะเกิดความบีบคั้นทางจิตวิญญาณขึ้น

ซึ่งการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง มิติทางจิตวิญญาณของพวกเขามักถูกบีบคั้นอย่างมาก จึงต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการดูแล เช่น คอยสังเกตอารมณ์ เพื่อจะช่วยสร้างความผาสุกทางจิตวิญญาณในวาระสุดท้ายของชีวิต และเพื่อให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบ”

THE HUMANs : เส้นทางชีวิตคุณหมอเป็นอย่างไร ทำไมจึงเลือกมาทำงานด้านนี้

“ผมเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จากนั้นเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางด้านวิสัญญีวิทยา หรือที่เรียกกันว่า “หมอดมยา” แพทย์สาขานี้มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในห้องผ่าตัด คือทำให้ผู้ป่วยไม่เจ็บ หรือไม่รู้สึกตัวระหว่างการผ่าตัด และดูแลให้การผ่าตัดดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการดมยาสลบ หรือบล็อกหลังด้วยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง เพื่อให้เกิดอาการชา หรือฉีดยาชาที่เส้นประสาทต่างๆ ในจุดที่จะทำการผ่าตัด เป็นต้น 

การเป็นวิสัญญีแพทย์ เป็นงานที่ต้องอยู่กับยาแก้ปวดต่างๆ มากมาย ทำให้ผมเริ่มชำนาญมากขึ้นในการใช้ยากลุ่มนี้ หลังจากเรียนจบเป็นวิสัญญีแพทย์แล้ว ผมเลือกไปทำงานในโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และมาลงตัวที่โรงพยาบาลอ่างทอง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด และได้เปิดคลินิกระงับปวดขึ้น 

โดยผู้ป่วยที่มีอาการปวด ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็ง และการเปิดคลินิกก็ด้วยความคาดหวังว่า จะสามารถรักษาอาการปวดจนทำให้ผู้ป่วยกลับมามีความสุขในชีวิตได้อีกครั้ง แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ แม้ผมจะทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดได้ แต่ผู้ป่วยเหล่านั้นกลับยังไม่มีความสุขในชีวิต จึงเป็นคำถามสำหรับผมว่า แล้วสิ่งใดกันที่ยังทำให้เขาเป็นทุกข์อยู่ 

จากจุดนี้ ทำให้ผมเริ่มศึกษาเรื่องทางจิตใจ จนได้รู้จัก “สาวิกาสิกขาลัย เสถียรธรรมสถาน” ของท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ซึ่งได้เปิดหลักสูตรปริญญาโท 2 ปี สาขาพุทธศาสตร์และศิลปะแห่งชีวิต”

THE HUMANs : หัวใจของหลักสูตรนี้พูดถึงเรื่องอะไร

“หลักสูตรนี้ตอบโจทย์ผมในหลายๆ เรื่อง เช่น ชีวิตคนเราประกอบด้วยอะไรบ้าง คนเราสุข-ทุกข์จากอะไร ซึ่งหัวใจของหลักสูตร คือการพูดถึงชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ว่าชีวิตคนๆ หนึ่ง เมื่อเกิดมาแล้วเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง แล้วพุทธศาสนาสัมพันธ์กับชีวิตอย่างไร ซึ่งการเรียนทั้งหมดก็เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังที่ท่านแม่ชีศันสนีย์ได้เคยพูดไว้ว่า “อยู่กับโลกอย่างที่โลกเป็น ด้วยหัวใจที่ไม่เป็นทุกข์” 

พอเรียนจบ ก็ช่วยให้ผมมีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์มากขึ้นว่า ชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่ร่างกาย จากนั้น จึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยการสนใจเรื่องราวความทุกข์ของผู้ป่วยมากขึ้น จนทำการรักษาจิตใจควบคู่ไปกับร่างกาย ซึ่งทำให้ผมได้ค้นพบว่าปัญหา หรือความทุกข์บางอย่าง เพียงแค่ผู้ป่วยได้พูดคุย ได้ระบายออกมา โดยมีคนฟัง ก็ช่วยให้จิตใจของเขาดีขึ้นได้แล้ว และในบางครั้ง เขาก็สามารถค้นพบหนทางแก้ปัญหาของตัวเองได้ด้วย ผมสัมผัสได้อย่างชัดเจนเลยว่าผู้ป่วยดีขึ้น เขามีความสุขมากขึ้น ซึ่ง ณ ขณะนั้น ผมยังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า ศาสตร์ที่ว่าด้วยการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care คืออะไร”

THE HUMANs : คุณหมอมารู้จักกับ Palliative Care ได้อย่างไร และมีสิ่งใดเป็นจุดพลิกผัน

“มีวันหนึ่ง ผมไปเข้าคอร์สเตรียมตัวตายแบบทิเบตของมูลนิธิพันดารา และได้พบกับอาจารย์กวิวัณณ์ วีรกุล พอได้คุยกัน อาจารย์ก็บอกว่างานที่ผมทำอยู่ ใกล้เคียงกับ Palliative Care ที่ศูนย์บริรักษ์ฯ อาจารย์จึงชักชวนให้มาอยู่ที่นี่ ซึ่งตอนนั้นก็ประมาณ 8 ปีก่อน 

งานด้านนี้ใหม่มากในสังคมไทย ใหม่เสียจนผมไม่มั่นใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ตอนนั้นเกิดความรู้สึกสับสน เพราะอยู่อ่างทองก็ลงตัวมากๆ งานเติบโตก้าวหน้าจนได้เป็นหัวหน้ากลุ่มงานวิสัญญีแล้ว ซึ่งหากย้ายมา อาจต้องเจอความไม่แน่นอน และเงินเดือนก็หายไปถึงสามเท่า

บังเอิญผมได้พบท่านแม่ชีศันสนีย์ เมื่อปรึกษาท่านเรื่องนี้ ท่านบอกกับผมว่า ท่านรับรองให้ไม่ได้ว่าเส้นทางนี้จะสบาย แต่ท่านเชื่อมั่นว่าผมจะได้เรียนรู้มากมายบนหนทางนี้อย่างแน่นอน การที่ได้ส่งใครไปอย่างสงบเป็นกุศล และท่านขอบิณฑบาตให้ผมมาทำกุศลในครั้งนี้”

THE HUMANs : เมื่อตัดสินใจแล้ว การทำงานในช่วงบุกเบิกต้องต่อสู้กับอะไรบ้างหรือไม่

“ผมคิดว่าเป็นการต่อสู้กับค่านิยมมากกว่า เนื่องจากงาน Palliative Care เป็นของใหม่ จึงมีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย คนที่ไม่เห็นด้วยจะมองว่าศูนย์ฯ ไร้ความหมาย ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี หรือจะมีหมอหรือไม่ก็ตาม ถึงอย่างไรคนไข้ก็ตายอยู่ดี ซึ่งทำให้ผมเสียกำลังใจเหมือนกัน 

แม้แต่คนใกล้ตัวยังบอกว่าการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แทบจะไม่มีความหวังใดๆ แล้ว แล้วผมจะทำไปเพื่ออะไร แต่ในที่สุด ผมก็สามารถพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าแพทย์ในสาขานี้ เรามีหน้าที่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยระงับความเจ็บปวดที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่ได้ และช่วยให้พวกเขาได้ใช้เวลาในระยะสุดท้ายของชีวิตที่เหลืออยู่อย่างดีที่สุด เพื่อการจากไปอย่างสงบ ซึ่งนี่คือหัวใจของงาน Palliative Care”

THE HUMANs : ในระยะแรกที่ย้ายมา คุณหมอต้องเพิ่มพูนทักษะงานด้านนี้อย่างไร

“Palliative Care เป็นวิชาใหม่ที่ไทยในสมัยนั้น และแพทย์ด้านนี้ยังมีเพียงไม่กี่คน ซึ่งที่นี่เป็นโรงเรียนแพทย์ และผมยังต้องมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แพทย์ท่านอื่นๆ รวมทั้งนักศึกษาแพทย์ด้วย จึงต้องไปเรียนเพื่อให้มีความรู้ที่ลึกและชัดเจนขึ้น แต่ต้องภายในเวลาที่จำกัดมากๆ เพราะที่ศูนย์ฯ ไม่มีหมอมากเพียงพอ  

ก่อนหน้านี้ แพทย์ท่านอื่นส่วนใหญ่จะเลือกไปยุโรป หรืออเมริกา แต่ผมเองสนใจประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น เพราะคิดว่าน่าจะมีวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกับคนไทย ในที่สุดก็ลงเอยที่มหาวิทยาลัยโกเบ เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโงะ ในสาขา Palliative Medicine ซึ่งเป็น Fellowship คนแรกที่เป็นชาวต่างชาติของสาขานี้ด้วย”

THE HUMANs : ตามหลักทฤษฎีแล้ว เรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องอะไรคะ

“คือการทำอย่างไรให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขณะที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ และจากไปโดยมีคุณภาพการเสียชีวิตที่ดีด้วย รวมทั้งครอบครัวที่เหลืออยู่ จะทำอย่างไรให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้หลังการสูญเสียนี้ ซึ่งการเรียนแพทย์จะไม่ใช่การนั่งเรียนในห้อง แต่ต้องทำงานรักษาผู้ป่วยไปด้วย โดยมีอาจารย์คอยกำกับดูการทำงานอย่างใกล้ชิด ทั้งการพูดคุยกับผู้ป่วย และการรักษาด้วยยา

ซึ่งตัวยาก็มีความเป็นสากลที่ใช้กันแพร่หลาย แต่อาจแตกต่างกันในรายละเอียดบ้างเล็กๆ น้อยๆ นอกจากโกเบแล้ว อาจารย์ยังส่งไปเรียนรู้งานในโรงพยาบาลตามเมืองต่างๆ ทั้งเกียวโต โตเกียว และชิบะ เพราะท่านอยากให้ไปสัมผัสบรรยากาศการทำงานที่แตกต่าง พร้อมๆ กับชื่นชมธรรมชาติอันงดงามให้เต็มที่”

THE HUMANs : ผู้ป่วยญี่ปุ่นกับผู้ป่วยไทยต่างกันไหมคะ

“ต่างกันในบางเรื่องครับ เพราะสังคมญี่ปุ่นสามารถพูดคุยเรื่องความตามได้อย่างเปิดเผย และเมื่อเขารู้ตัวว่าความตายใกล้เข้ามา เขาจะไม่ยื้อชีวิตเลย ขณะที่บรรทัดฐานสังคมไทยยังมีความพยายามยื้อชีวิตอยู่ คนญี่ปุ่นจะมองว่าความตายคือเรื่องหนึ่งในชีวิต เป็นธรรมชาติ เป็นความธรรมดา เพราะเมื่อร่างกายเสื่อมโทรมลง ย่อมต้องมีวันนี้ทุกคน

ประสบการณ์ที่ญี่ปุ่น ยังทำให้ผมเห็นความเป็นรูปธรรมของงานด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ชัดเจน ขณะที่ตอนอยู่ไทยยังมองไม่ค่อยออก เพราะเรื่องนี้ในไทยถือเป็นเรื่องใหม่ แต่ที่ญี่ปุ่นเขายอมรับกันมานานแล้ว เนื่องจากเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีจำนวนผู้สูงวัยมากที่สุดในโลก ทำให้รัฐบาลมีแนวทางดูแลทางด้านนี้อย่างจริงจัง”

THE HUMANs : ในแง่ของวิถีชีวิต หรือความหมายของการมีชีวิตของคนญี่ปุ่น มีเรื่องใดที่คุณหมอรู้สึกประทับใจ

“ในวัฒนธรรมของเขา ผู้สูงวัยจะมีวิถีชีวิตอย่างหนึ่งคือ หากคู่ชีวิตของตนเสียชีวิตลง คนที่เหลืออยู่ มักจะอยู่ในสถานที่ที่เคยอยู่กับคู่ชีวิตนั้นต่อไป แม้ต้องอยู่ตามลำพังก็ตาม เขาจะไม่ย้ายไปไหน เพื่อรอที่จะเสียชีวิตลงในที่เดียวกัน ซึ่งรัฐบาลเองก็เข้าใจว่านี่คือสิ่งสุดท้ายที่ผู้สูงวัยต้องการ ดังนั้น จึงมีนโยบายในการดูแลเพื่อตอบสนองมิติทางจิตวิญญาณนี้ 

เช่น ถ้าไม่มีใครดูแล ก็จะจัดการดูแลในเชิงสังคมให้ ด้วยการจัดหาอาหาร ส่งคนไปทำความสะอาด มีหมอคอยไปตรวจ และอีกมากมาย เพื่อทำให้คนสูงวัยคนหนึ่ง ได้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการก่อนตาย ถือเป็นการตอบสนองต่อชีวิตมนุษย์ได้จริงๆ หรือโรงพยาบาลต่างๆ ในแต่ละเมือง ก็มีจำนวนมากเพียงพอในการรองรับผู้ป่วย ขณะที่ของเรายังเจอปัญหาเตียงเต็มตลอด เนื่องจากโรงพยาบาลของเรามีน้อย และจำนวนผู้ป่วยของเราก็มีเยอะ 

หรือแพทย์ทางด้าน Palliative Care ในไทยเองมีอยู่ราวหลักสิบถึงร้อยคนเห็นจะได้ ซึ่งเทียบกับญี่ปุ่น จะมีถึงหลักพันจนอาจถึงหลักหมื่น เนื่องจากสาขานี้เป็นการแพทย์แขนงหนึ่ง หรือภาควิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัยแพทย์มานานแล้ว แต่ของไทยเพิ่งมีการเรียนการสอนเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมานี้เอง

อีกอย่างที่ผมประทับใจมากคือการได้รู้จัก “อิจิโงะ อิจิเอะ” (Ichigo Ichie) ซึ่งเป็นปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้งในวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยเขาจะมีธรรมเนียมที่เชื่อว่าการได้พบกันแต่ละครั้ง อาจเป็นการได้พบกันเพียงครั้งเดียว หรืออาจเป็นครั้งสุดท้ายในทุกครั้ง เพราะฉะนั้นเขาจะทำครั้งสุดท้ายที่พบกันให้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นที่มาของการบริการของญี่ปุ่นที่เขาทำอย่างสุดใจ”

THE HUMANs : เรื่องการแต่งหนังสือ คุณหมอมีจุดเริ่มต้นอย่างไรคะ

“คงเป็นเพราะชอบอ่านหนังสือ และแนวที่ชอบก็เกี่ยวข้องกับความตายทั้งนั้นเลย (หัวเราะ) ในจำนวนนั้น เรื่องที่ชอบมากคือ Tuesdays with Morrie หรือวันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี่ และภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องDepartures ซึ่งเป็นเรื่องราวความตายที่สะท้อนถึงการมีชีวิตอยู่ของเรา

และผมก็สะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นนวนิยาย ซึ่งมรณเวชกรรม ได้รางวัลหนังสือแนะนำพิเศษจากเซเว่นบุ๊คส์อวอร์ดในปี 2563 ส่วนการุณยฆาตได้รางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติในปี 2564 ผมก็เลยดีใจที่มีคนเห็นความสำคัญ และในอนาคตก็คงจะยังเขียนหนังสือต่อไป เพื่อให้เรื่องราวเหล่านี้เข้าถึงผู้คนได้มากยิ่งขึ้น”

THE HUMANs : ทั้งสองเล่มพูดถึงเรื่องอะไร

“มรณเวชกรรม” ประเด็นหลักที่ต้องการสื่อ คือสื่อว่างานด้านนี้คืออะไร หมอมีหน้าที่ทำอะไร และดูแลเรื่องใดบ้าง ซึ่งแรงบันดาลใจก็มาจากการได้สัมผัสผู้ป่วยระยะสุดท้าย จนได้เห็นว่าชีวิตของพวกเขาผ่านเรื่องราวมามากมาย จึงอยากถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับรู้บ้าง จากนั้นอีกสองปีต่อมา ผมก็ออก “การุณยฆาต” เล่มนี้ตั้งใจเขียนถึงช่วงเวลาในระยะสุดท้ายของชีวิตจริงๆ ว่าในทางการแพทย์มีเรื่องอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง

เนื่องจากระยะสุดท้ายของชีวิต คือช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปจากทุกช่วง ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายของการรักษา จากที่เคยทำให้คุณภาพชีวิตดีที่สุด ก็เปลี่ยนไปแล้ว เพราะเขาจะไม่มีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนานแล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้คุณภาพการเสียชีวิตของเขาดีที่สุดแทน 

ตรงนี้หมอทั่วไป หรือคนทั่วไปอาจไม่เข้าใจว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อทำให้การเสียชีวิตดีที่สุด ซึ่งนวนิยายเล่มนี้ อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ป่วยเตรียมพร้อมต่อการเสียชีวิต รวมทั้งให้ความรู้ทางการแพทย์ว่าสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ซึ่งจริงๆ แล้วประเด็นนี้ ยังเข้าใจกันสับสนมากว่าคือการุณยฆาตหรือไม่”

สนทนาต่อในเรื่องความตายอย่างสงบ กับ THE HUMANs และ ‘นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย’ ในตอนที่สอง “หลับให้สบาย…ใช้ชีวิตมาอย่างไร ก็ตายอย่างนั้น และศาสตร์ของ Palliative Care”